เพชรบุรี 13 พ.ค. -“พิมพ์ภัทรา” ยกคณะลงพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง 2 จ่อชง “เพชรสมุทรคีรี” เป็นเมืองแห่งอาหาร
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำผู้บริหารระดับกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์) เพื่อรับฟังปัญหาและหารือแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจแบบครบวงจรจากฐานการค้า การลงทุน การบริการ การท่องเที่ยวและการเกษตรสู่ความมั่งคั่งยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี การเสริมสร้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยด้วยต้นทุนทางสังคม ประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยศาสตร์พระราชา การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมสู่เมืองสร้างสรรค์ระดับสากล ด้วยทุนทางศิลปะวัฒนธรรม การท่องเที่ยว
โดยได้ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ใน 4 จุด ดังนี้ จุดที่ 1 กิจกรรมฝึกอาชีพ ณ โรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จุดที่ 2 กิจกรรมฝึกอาชีพ ณ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จุดที่ 3 วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี และจุดที่ 4 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ณ โรงเรียนบ้านลาดวิทยา อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
สำหรับกรอบการตรวจราชการ ได้มุ่งเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยพลังแห่งภูมิภาค สู่ทักษะอาชีพที่ยั่งยืน สะท้อนให้เห็นผ่าน 4 จุดที่ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ พบว่า มีการผสมผสานศักยภาพด้านการค้า การลงทุน การบริการ การท่องเที่ยว และการเกษตรอย่างลงตัว นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเสริมพลังขับเคลื่อนสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
ส่วนการลงพื้นที่ตรวจติดตามราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ครั้งนี้ ยังได้พิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2567 ซึ่งโครงการตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม มี 2 โครงการ คือ 1) โครงการพัฒนาเชื่อมโยงเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ให้กลุ่มจังหวัด “เพชรสมุทรคีรี” เป็นเมืองแห่งอาหาร (Gastronomy) และยกระดับความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี 2) โครงการส่งเสริมภาคการผลิตที่ลดอัตราการเกิดก๊าซเรือนกระจกโดยการขอรับรองฉลากคาร์บอน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญตามข้อเสนอของ กรอ. จังหวัดเพชรบุรี อีก 3 โครงการ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1) โครงการส่งเสริม SMEs ไทยให้มีการบริหารจัดการธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 2) การผลักดันการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาอาหารด้วยนวัตกรรม เพื่อยกระดับ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (Agro-Industry) และ 3) โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดเพชรบุรี เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน.-517-สำนักข่าวไทย