กรุงเทพฯ 30 เม.ย.-นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เปิดเผยว่า ภาพรวมของสินเชื่อในช่วง 4 เดือนที่ผ่าน ยังคงชะลอตัว ตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จากการที่ยังขาดแรงกระตุ้นที่จะส่งผลต่อบวกต่อสินเชื่อทั้ง 2 กลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ทำให้มีการชะลอการซื้อบ้านและรถยนต์ลงไปมาก แต่สินเชื่อที่ยังเติบโตได้บ้าง คือ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ธนาคารก็ยังคงระมัดระวังการให้สินเชื่อ จากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง
อย่างไรก็ตามธนาคารคาดหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 จะเห็นการฟื้นตัวของสินเชื่อรายย่อยกลับมา ในช่วงไตรมาส3/67 จากการการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐซึ่งจะทำให้มีปัจจัยหนุนมากระตุ้นภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง และเป็นปัจจัยหนุนต่อภาพรวมของสินเชื่อรายย่อยของธนาคารกลับมาฟื้นตัวตามภาพของเศรษฐกิจ ส่วนสินเชื่อรถยนต์ไตรมาส 1/67 มีการปรับตัวลงถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบของยอดขายรถกระบะที่ลดลงไปมาก ทำให้สินเชื่อรถยนต์ลดลงตามไปด้วย ซึ่งธนาคารจะปรับกลยุทธ์ไปเจาะกลุ่มรถยนต์ประเภทอื่น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์หรู รวมถึงการทำงานร่วมกับดีลเลอร์และเต้นท์รถยนต์มากขึ้น แต่ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เป็นรถยนต์ใหม่ รถยนต์มือสอง และสินเชื่อรถแลกเงิน คาดว่าจะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ที่ 1.5 แสนล้านบาท
ขณะที่การปรับลดดอกเบี้ย MRR 0.25% ตามนโยบายของสมาคมธนาคารไทย เป็นระยะเวลา 6 เดือนนั้น TTB จะมีการประกาศปรับลด MRR 0.25% ในเร็วๆนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านจะหายไปไม่มากราวๆ 50-60 ล้านบาท เนื่องจาดกลุ่มลูกค้าสินเชื่อบ้านที่เข้าข่ายมาตรการลด MRR 0.25% ของธนาคารนั้นมีเพียง 50,000-60,000 ราย และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000-30,000 บาท/เดือน มีไม่มาก ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญ และธนาคารสามารถหารายได้จากค่าธรรมเนียมอื่นๆ เข้ามาชดเชยได้ แม้ว่าจะไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมดก็ตาม แต่ยังสามารถช่วยพยุงรายได้ของธนาคารได้ เช่น การแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆของกลุ่มลูกค้า Wealth ทั้งการลงทุนในตราสารหนี้ และการบริการด้านอื่นๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในส่วนของแผนกลยุทธ์ของ ttb reserve ในปี 2567 ตั้งเป้าลูกค้าถือครองบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 44,000 ราย จากสิ้นปีก่อนที่ 39,000 ราย โดยตั้งเป้าหมายมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) 7.25 แสนล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 40% จากสิ้นปีก่อนที่ 6 แสนล้านบาท โดยการขยายฐานลูกค้า ttb reserve กลุ่ม Young wealth หรือกลุ่มที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป เข้ามาเป็นลูกค้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการขยายฐานลูกค้ากลุ่มเจ้าของกิจการที่เป็นฐานลูกค้าของ ttb ที่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลาง-ใหญ่ และกลุ่มดีลเลอร์รถยนต์ที่ธนาคารมีฐานลูกค้ามากกว่า 3,000-4,000 ราย ที่ ttb จะเชิญชวนเข้ามาใช้บริการ ttb reserve
ขณะเดียวกันยังเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์และฟีเจอร์ใหม่เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับลูกค้า ได้แก่ Foreign Exchange (FX) Solution และ Wellness Solutionโซลูชันการปรับพอร์ตลงทุน สำหรับลูกค้าที่มีเงินฝากสูง เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่มากกว่า นอกจากนั้น ธนาคารยังคงมอบเอกสิทธิ์เหนือระดับอย่างต่อเนื่องด้วยแคมเปญต่างๆมากมายเพื่อต่อยอดความมั่งคั่งให้กับลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิต ttb reserve -517-สำนักข่าวไทย