สุราษฎร์ธานี 18 มี.ค. – ซีพีแรม-ชาวบ้านสุราษฎร์ธานี ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ปล่อยลูกปูม้าสะสมกว่า 1.4 ล้านตัว คืนสู่ท้องทะเลไทย ส่งต่อความยั่งยืนสู่อนาคต #ปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย
บริษัท ซีพีแรม จำกัด มุ่งเน้นขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) อย่างต่อเนื่อง โดยมี “โครงการปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย” เป็นหนึ่งภารกิจสำคัญที่ดำเนินการมากว่า 12 ปี ล่าสุดร่วมมือและผนึกกำลังกับหน่วยงานราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ชาวประมงพื้นบ้าน และชาวบ้าน ในพื้นที่บ้านพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปล่อยลูกปูม้าสะสมกว่า 1.4 ล้านตัว สู่ท้องทะเลไทย หวังสร้างสมดุลระบบนิเวศและเสริมสร้างความยั่งยืนทางอาหารต่อไป
โดยนายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วยผู้บริหาร และพนักงาน บริษัท ซีพีแรม จำกัด ร่วมปล่อยลูกพันธุ์ปูม้า สะสมกว่า 1.4 ล้านตัว ลงสู่ท้องทะเลไทย ในพื้นที่บ้านพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในโครงการ “ปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย” โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท ซีพีแรม จำกัด, จังหวัดสุราษฎร์ธานี, กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 3 (สุราษฎร์ธานี), บริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ปูม้า ธนาคารปู และชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อมุ่งหวังสร้างสมดุลระบบนิเวศทะเลไทย ส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืนทางอาหาร และช่วยเพิ่มปริมาณปูม้าในทะเล ซึ่งเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกด้วย โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 12 ปี พร้อมทั้งร่วมเก็บขยะบนพื้นที่เกาะเสร็จ ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทางท้องทะเลที่สำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงเป็นเกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรทางธรรมชาติ เหมาะต่อการอนุบาลสัตว์น้ำบนท้องทะเลไทย โดยได้รับเกียรติจากนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “ปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย” ในครั้งนี้
นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เปิดเผยว่า ซีพีแรมเป็นผู้ผลิตอาหารที่คำนึงถึงความปลอดภัยทางอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนทางอาหาร หรือ FOOD 3S ดังนั้น การใช้วัตถุดิบธรรมชาติจากเกษตรกรหรือผู้ส่งมอบวัตถุดิบ ต้องอยู่บนพื้นฐานความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต โครงการ “ปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย” จะเป็นกรณีศึกษาให้กับโครงการอื่นๆ ในเรื่องการจัดการห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain Management ที่เกิดผลตามแนวทาง FOOD 3S ของซีพีแรม (Food Safety, Food Security and Food Sustainability) โดยผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ อันได้แก่ ชาวประมง, บริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด (ผู้ส่งมอบวัตถุดิบเนื้อปู), บริษัท ซีพีแรม จำกัด (ผู้ผลิตอาหาร), ผู้บริโภค และกรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 3 (สุราษฎร์ธานี) เป็นผู้สนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อให้การจัดการอนุรักษ์ คุ้มครอง และการพัฒนาการประมงปูม้าในทะเลไทย บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีผลเสียต่อระบบนิเวศวิทยา ทรัพยากร และคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อการเพิ่มมูลค่าปูม้าจากการแปรสภาพ ที่สอดคล้องกับมาตรฐานทางสุขอนามัยให้ได้ผลิตภัณฑ์ปูม้า ที่มีคุณภาพสำหรับการบริโภค การประกันคุณภาพ และการรักษามาตรฐานที่ต้องการ รวมถึงเพื่อสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนทางอาหาร
นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปูม้า เป็นสัตว์ทะเลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะเสร็จ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของปูม้า และสัตว์น้ำทะเลต่างๆ เป็นผลมาจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ได้แก่ ชาวประมงพื้นบ้านได้ให้ความร่วมมือในการทำธนาคารปูม้า และภาคเอกชนได้เข้ามาทำกิจกรรมปล่อยลูกพันธุ์ปูม้า ในระยะการเติบโตที่มีโอกาสรอดสูง สำหรับโครงการปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย ของบริษัท ซีพีแรม จำกัด เป็นโครงการที่ส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย ซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้าน ให้สามารถดำเนินการประมงได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้คงความอุดมสมบูรณ์ และเกิดความยั่งยืนต่อระบบนิเวศของท้องทะเลไทยต่อไป
ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ขอขอบคุณบริษัท ซีพีแรม จำกัด ที่ได้จัดทำโครงการปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย ในการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างต่อเนื่อง สำหรับกิจกรรมดังกล่าวทำให้ปริมาณปูม้าเพิ่มขึ้นทุกปี สามารถสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้กับคนในชุมชน รวมถึงยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีต่อไป
นับว่าโครงการ “ปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย” ช่วยเสริมสร้างความตระหนักรู้ในสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนของปูม้าในท้องทะเลไทย สำหรับการดำเนินการโครงการดังกล่าวมีความคาดหวังในระยะยาว ถือกำเนิดมาจากแนวคิดในการอนุรักษ์พันธุ์ปูม้าในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย รักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้คงความสมบูรณ์ และสมดุลระบบนิเวศในท้องทะเลไทย ซีพีแรมยังคำนึงถึงการส่งมอบสิ่งที่เป็นคุณค่าบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจตามหลัก 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มุ่งสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม และบริษัท. – สำนักข่าวไทย