กรุงเทพฯ 6 มี.ค.- “เผ่าภูมิ” เผยเตรียมปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมปล่อยสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ ชี้ภาษีต้องไม่ซ้ำเติมประชาชนในช่วงเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ ย้ำแบงก์ไทยเข้มงวดปล่อยสินเชื่อเกินไปจนไม่ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “อสังหาริมทรัพย์ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี2024” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อเรื่อง “นโยบายภาครัฐต่อการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์” โดยระบุว่าภาพรวมภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย ด้านซัพพลาย มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นไตรมาส 4 ปี 2566 ถึง 7.7% แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด อยู่ 2.7% เป็นผลมาจากการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ปรับลดการขอใบอนุญาต ส่วนดีมานด์ มียอดโอนกรรมสิทธิช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 ปรับตัวลดลง 4.2% แต่หากดูยอดขายช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 เพิ่มขึ้น 24% โดยเห็นสัญญาณเชิงบวกจากการปรับตัวของทั้งผู้ประกอบการและความต้องการของภาคประชาชนมากขึ้น ซึ่งคาดหวังว่าปีนี้จะเห็นซัพพลายที่เกินตลาดลดน้อยลง และความต้องการซื้อของภาคประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ส่วนแนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์ปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการภาครัฐ การปรับตัวของผู้ประกอบการและภาคเอกชน แต่ยังต้องเฝ้าระวังสัญญาณเศรษฐกิจจากทั้งในและต่างประเทศ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งมีความสำคัญต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ อัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ สะท้อนกำลังซื้อของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลมุ่งรักษาเสถียรภาพภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบหลายด้าน แต่ย้ำว่าต้องไม่กระทบศักยภาพในการพัฒนา
“การปรับปรุงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่มองว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังขยายตัวไม่ดีนัก และยังอ่อนแอดังนั้นอัตราภาษีไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดินฯ หรือภาษีอื่นๆ อะไรที่ปรับก็ต้องปรับ อะไรที่ควรเพิ่มเติมก็ต้องเพิ่ม แต่ภาษีต้องไม่เป็นภาระและซ้ำเติมประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจด้วย” นายเผ่าภูมิ กล่าว
โดยในปี 2567 รัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นมาตรการด้านภาษี และมาตรการเงิน โดยมาตรการด้านภาษี ประกอบด้วย 5 มาตรการ ได้แก่
1.ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อบรรเทาภาระของผู้มีเงินได้
2.การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร้อยละ 90 ของภาษีที่ต้องเสียให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ไม่เกิน 3 ปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการระหว่างการก่อสร้าง
- การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับทรัพย์ส่วนกลางที่มีไว้เพื่อใช้ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
4.การขยายเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ในปี 2567 เป็นการทั่วไปออกไปอีก 2 เดือน - มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ลดค่าจดทะเบียนการโอนจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองจากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 ที่จดทะเบียนในปี 2567
มาตรการทางการเงิน ประกอบด้วย 2 มาตรการ
- โครงการบ้านล้านหลัง สนับสนุนประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาที่ไม่สูง โดย ธอส. สนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรน วงเงิน 20,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี
2.โครงการสินเชื่อ Happy Life สนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง วงเงินกู้ต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.98 ต่อปี ดอกเบี้ยต่ำที่สุดในปีแรกที่ร้อยละ 1.95 ต่อปี
นายเผ่าภูมิ ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกรณีภาคอสังหาฯเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่ออายุมาตรการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(LTV) ที่หมดอายุไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2565 นั้น คลังก็ได้มีการหารือในเรื่องหนี้กับ ธปท.อย่างต่อเนื่อง แม้ขณะนี้ ธปท.ยังไม่เห็นด้วย แต่คลังก็จะหารือต่อไป รวมถึงมาตรการทางสินเชื่อของสถาบันการเงินด้วย เพราะมองว่าต้องมีมาตรการเพื่อมาสนับสนุนภาคอสังหาฯ ของไทยให้ขยายตัวต่อไปได้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เราไม่สามารถมองในมิติเดียวว่า การปล่อยสินเชื่อประชาชนจะไปก่อหนี้ หรือจะทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองในแง่ผลบวกต่อเศรษฐกิจด้วย ซึ่งเรามีความจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญต่อการระมัดระวังความเสี่ยง แต่จะต้องไม่ไปกระทบการเติบโต หรือการพัฒนาของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันทางการเงิน ไม่ใช่แค่ปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นปัญหาของภาพรวมเศรษฐกิจไทยด้วย ภาคสถาบันการเงินของไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง แต่ยังไม่ใช่กลไกการผลักดันเศรษฐกิจที่ดีพอ จึงต้องมีการพัฒนาการเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนเข้าสินเชื่อและแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยต้องหาจุดสมดุลระหว่างเสถียรภาพ กับศักยภาพเศรษฐกิจ ที่ปัจจุบันมองว่ายังไม่สมดุลกัน เพราะยังอิงเสถียรภาพมากกว่าศักยภาพมากเกินไป
ส่วนสถานการณ์ที่อยู่อาศัยเหลือขายจำนวนมากนั้น รัฐบาลก็เห็นว่า เป็นอีกหนึ่งปัญหาของประเทศไทย โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงโควิด ที่ซัพพลาย ทั้งในแนวราบ และแนวสูง ที่มีจำนวนเหลือขายค่อยข้างสูงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ได้ดี ทำให้คนไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งตอนนี้เรื่องของซัพพลายก็มีการปรับตัวมากขึ้น เมื่อซัพพลายเดิมยังมีอยู่ ก็ต้องปรับซัพพลายใหม่ให้ลดลงเพื่อเกิดความสมดุลกับกำลังซื้อที่แท้จริงของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐไม่ควรไปแตะกลไกตลาด ระหว่างการปรับตัวของซัพพลายกับดีมานด์ เพื่อให้ขยายตัวเท่ากัน ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ รัฐเพียงช่วยอำนวยความสะดวกให้กลไกลเหล่านี้ทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราจึงจำเป็นต้องมีมาตรการทางภาษี เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และมีมาตรการทางการเงินเพื่อเข้าไปช่วยประชาชน.-516-สำนักข่าวไทย