กรุงเทพฯ 23 พ.ย. – สภาผู้ส่งออก คาดส่งออกของไทยในปี 2567 โต 1-2% จากปี 2566 คาดส่งออกจะหดตัว 1-1.5%
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดว่าการส่งออกของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ในปี 2566 คาดว่าการส่งออกจะหดตัว 1-1.5% หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 2.83-2.84 แสนล้านดอลลาร์ และคาดในปี 2567 จะเห็นการส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ราว 1-2% หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 2.85-2.89 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนไตรมาส 4/2566 คาดการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ 5-7% โดยเริ่มมีสัญญาณที่ดีต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม
สำหรับปี 2567 สินค้าเกษตร อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก และการส่งออกนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าอัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยอยู่ที่ 33-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ย 80-90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ปัจจัยภายนอกที่ผู้ส่งออกไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูง รวมทั้งกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนแต่เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTB) ที่ผู้ส่งออกของไทยจะต้องทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านั้น ไม่เช่นนั้นสินค้าไทยก็จะไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้นได้ หรืออาจส่งออกได้ แต่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าปกติ ซึ่งทำให้เสียเปรียบประเทศคู่แข่ง ส่วนปัจจัยในประเทศ ต้องติดตามสถานการณ์เอลนีโญ เนื่องจากจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร
นายชัยชาญ ยังกล่าวว่าปี 2567 มีความท้าทายในเรื่องค่าแรง การขาดแคลนแรงงาน เพราะไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผู้ประกอบการส่งออกต้องปรับตัว เรื่องการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในกระบวนการผลิตสินค้า เพราะไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนแรงงานเริ่มลดลง ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่อง Automation เพื่อมาใช้ทั้งในภาคการผลิต การตลาด และการค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิการผลิตสินค้า และลดการใช้แรงงานคน. -สำนักข่าวไทย