กรุงเทพฯ 13 พ.ย. – Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือระดับมีเสถียรภาพ คาดจีดีพีโตร้อยละ 3.8 ในปี 67
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ณ ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) หลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 2.8 ในปี 2566 เพิ่มเป็นร้อยละ 3.8 ในปี 2567 มีปัจจัยหนุนจากส่งออกฟื้นตัว ความต้องการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น จากการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) ชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย ได้ส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว
เมื่อมีรัฐบาลทำให้การดำเนินนโยบายชัดเจนมากขึ้น แนะรัฐบาลต้องรักษาวินัยทางการคลังให้มากขึ้น Fitch เชื่อว่า อันดับคะแนนภายใต้ Worldwide Governance Indicators (WGI) ของประเทศไทยจะดีขึ้น เนื่องจากการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ยอมรับไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภัยแล้ง และความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในด้านภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) Fitch คาดว่า รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.0 ของ GDP ในปี 2566 เป็นร้อยละ 3.7 ของ GDP ในปี 2567 สูงกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (BBB Median = ร้อยละ 2.9) แต่จะเริ่มลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ในปี 2568 (BBB Median = ร้อยละ 2.6) โดยใช้งบด้านการลงทุนและสังคมเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ Fitch คาดว่า สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (General Government to GDP) ปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 56.8 ยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดปัญหา COVID-19 แต่ยังอยู่ในระดับเดียวกันกับค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (BBB Peers) ที่ร้อยละ 56.3 และในระยะปานกลาง ในปี 2570 คาดว่าระดับดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 57.5 อีกทั้งเชื่อว่ารัฐบาลยังสามารถระดมทุนภายในประเทศได้ ท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากหนี้สาธารณะมีอายุเฉลี่ยค่อนข้างยาว และส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาท เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงทางการเงินจากการเพิ่มขึ้นของ General Government to GDP ได้
สำหรับภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) มีความแข็งแกร่งและสามารถรองรับสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเงินโลกและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดย Fitch คาดว่า ปี 2566 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลร้อยละ 1.0 ของ GDP จากขาดดุลร้อยละ 3.2 ในปี 2565 อีกทั้งปี 2566 คาดว่าระดับทุนสำรองระหว่างประเทศต่อมูลค่าการนำเข้าจะยังคงอยู่ในระดับสูงมาก 7.1 เดือน ซึ่งสูงกว่า BBB Median ที่ 5 เดือน Fitch ยังติดตามเพื่อวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย คือ ความสามารถในการบริหารจัดการ General Government Debt to GDP ให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ และสร้างการเติบโตในระยะปานกลาง ตลอดจนประสิทธิผลของนโยบายทางเศรษฐกิจ. – สำนักข่าวไทย