กรุงเทพฯ 1 พ.ย. – ETL หุ้นโลจิสติกส์สัญชาติไทยตัวแรก ที่ดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าข้ามแดน เปิดเทรดวันแรกที่ราคา1.35 บาท ลดลง 0.33 บาท จากราคา IPO 1.68 บาท หรือลดลง 19.64 %
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และนางสาวกฤชวรรณ ซื้อเจริญชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) พร้อมผู้บริหาร ร่วมพิธีเปิดการซื้อขายหลักทรัพย์วันแรก (1 พ.ย.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ บมจ. ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ ในกลุ่มบริการ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “ETL” เปิดเทรดวันแรกที่ราคา 1.35 บาท ลดลง 0.33 บาท จากราคา IPO 1.68 บาทหรือลดลง 19.64 %
ETL เป็นบริษัทย่อยของ บมจ. ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (WICE) ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนทางบก (Cross-Border Transportation Carrier) ระหว่างประเทศไทยและประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง และจีน ที่มีการเชื่อมต่อพรมแดนทางถนนและรางรถไฟ ETL มีบริษัทย่อยและบริษัทร่วม 6 บริษัท ตั้งอยู่ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย จีน ไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการประกอบธุรกิจ และติดต่อประสานงานกับลูกค้า เพื่อให้บริการที่ครอบคลุมการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนทางถนน ทั้งแบบเต็มตู้และแบบไม่เต็มตู้ โดยกลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์แก่ผู้ประกอบการในการนำเข้าและส่งออกในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร แผงโซล่าเซลล์ ชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค ยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น
หุ้น IPO จำนวน 171.866 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1.68 บาท คิดเป็นมูลค่าการระดมทุน 288.73 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,041.60 ล้านบาท
นางสาวกฤชวรรณ ซื้อเจริญชัย กรรมการผู้จัดการ บมจ. ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ (ETL) เปิดเผยว่า ETL เป็นหุ้นไทยตัวแรกที่ดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน โดยวางแผนนำเงินที่ได้จากการ IPO ภายหลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปขยายธุรกิจ มุ่งหวังสู่การเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมและยืดหยุ่น โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน 1.) ใช้สำหรับการขยายธุรกิจ 70% เพื่อลงทุนในยานพาหนะ ได้แก่ รถลากจูงและหางพ่วงเพื่อขยายกำลังการขนส่ง, ลงทุนในตู้คอนเทนเนอร์แบบควบคุมอุณหภูมิ (Reefer Container) และตู้แบบมาตรฐาน (Dry Container), ลงทุนในลานตู้คอนเทนเนอร์เพื่อจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ จอดยานพาหนะ รวมถึงซ่อมแซมและบำรุงรักษาสินทรัพย์ของกลุ่มบริษัทฯ และลงทุนระบบการบริหารจัดการการขนส่งรองรับการให้บริการที่เพิ่มมากขึ้น 2.) ชำระคืนเจ้าหนี้และเงินกู้ยืม 20% ได้แก่ ชำระคืนเจ้าหนี้ค่าซื้อกิจการ จากการเข้าซื้อธุรกิจในปี 2564 และชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับสถาบันการเงิน เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงิน และ 3.) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ 10% รองรับการขยายตัวของบริษัทฯ
นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ เพื่อต่อยอดการเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าผลไม้ ยาและเวชภัณฑ์ มีแผนขยายจำนวนรถลากจูงและรถกึ่งพ่วง รวมถึงการขยายการลงทุนตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิ(Reefer Container) เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า พร้อมจัดทำโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของการให้บริการ และยกระดับคุณภาพ โดยมุ่งเน้นการรักษาสินค้าให้คงคุณภาพเดิมจนถึงมือผู้รับปลายทาง ตั้งเป้าเติบโตร้อยละ 20 ต่อปี และรักษาผลกำไรเทียบเท่ากับปีที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย