นนทบุรี 28 ต.ค. – กรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือห้างค้าส่งค้าปลีก ขายน้ำตาลทรายในราคาเดิม จนกว่าสตอกเก่าจะหมด และจัดให้มีสินค้าเพียงพอกับความต้องการ ส่วนสินค้าที่ใช้น้ำตาลผลิตต้องดูเป็นรายตัว เหตุสินค้าแต่ละชนิดได้รับผลกระทบมากน้อยต่างกัน การปรับราคาต้องสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ห้ามฉวยโอกาสค้ากำไรเกินควร
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศ เรื่อง ราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567 โดยปรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่ น้ำตาลทรายขาว จากเดิมกิโลกรัม (กก.) ละ 19 บาท เป็นราคา กก.ละ 23 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จากเดิม กก.ละ 20 บาท เป็น กก.ละ 24 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.66 เป็นต้นไป ว่า กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือไปยังห้างค้าส่งค้าปลีก ผู้จำหน่ายน้ำตาลทรายทุกราย ให้จำหน่ายน้ำตาลทรายที่มีอยู่ในสตอกในราคาเดิม จนกว่าสตอกเก่าจะหมด และจัดให้มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการ และเติมสินค้าบนชั้นวางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าสินค้ามีเพียงพอ ของไม่ขาด
ส่วนผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า กรมฯ จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนผสม แต่ละชนิดมีผลกระทบแตกต่างกัน เพราะใช้น้ำตาลทรายในสัดส่วนที่แตกต่างกัน
“กรณีเป็นสินค้าควบคุม เช่น นมสด ปลากระป๋อง ถ้าผู้ผลิตจะขอปรับราคา กรมฯ ก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป โดยจะดูตามสัดส่วนการใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งผลกระทบจากราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น ประกอบกับต้นทุนส่วนอื่นๆ ด้วย เพราะบางสินค้าแม้ต้นทุนน้ำตาลทรายจะเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนอื่นๆ อาจจะลดลงก็ได้ ส่วนกรณีสินค้าอื่นๆ เช่น น้ำหวาน ขนมหวาน การกำหนดราคาหรือปรับราคาก็ต้องสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งกรมฯ จะติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้า การรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้บริโภคทางสายด่วน 1569 และการตรวจสอบให้ความเป็นธรรม” ร.ต.จักรา กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรมฯ เชื่อว่าในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าส่วนใหญ่คงไม่อยากที่จะปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะจะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค กรณีจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าก็ควรพิจารณาให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด สุดท้ายขอเน้นย้ำไปยังผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าทุกราย ห้ามฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควร หากพบจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ. – สำนักข่าวไทย