เจาะลึกความไม่สงบอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ต่อเศรษฐกิจการค้าไทย

นนทบุรี 11 ต.ค. – ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ต่อเศรษฐกิจการค้าของไทย


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหรือ สนค. วิเคราะห์ผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ต่อเศรษฐกิจการค้าของไทย ดังนี้ คือ 1.สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสชาวปาเลสไตน์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่มีมาอย่างยาวนานยกระดับรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ หลังจากเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 กลุ่มฮามาส (Hamas) หรือองค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์ซึ่งปกครองฉนวนกาซา เปิดปฏิบัติการ Al-Aqsa Flood ยิงจรวดเข้ามาในอิสราเอลเป็นวงกว้างและส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าไปโจมตีเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอล โดยอ้างเหตุผลการโจมตีว่าเพื่อตอบโต้ต่อความโหดร้ายทั้งหมดที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญจากอิสราเอลตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งการโจมตีดังกล่าวทำให้นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ออกแถลงการณ์ประกาศให้ “อิสราเอลเข้าสู่ภาวะสงคราม” และโจมตีตอบโต้กลุ่มฮามาส ขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลให้กับทั่วโลกว่าสถานการณ์อาจลุกลามบานปลายยกระดับความตึงเครียดสู่ระดับภูมิภาค และจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

2.ผลกระทบของสงครามต่อการค้าไทยจากผลกระทบทางตรง ได้แก่ 1.จากการประเมินผลกระทบทางตรงต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย กรณีที่สถานการณ์การสู้รบที่อยู่ในพื้นที่จำกัด (บริเวณฉนวนกาซา) ยังไม่มีการปิดประเทศหรือปิดกั้นระบบการขนส่งทั้งหมด น่าจะยังไม่กระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ขัดแย้ง (อิสราเอลและปาเลสไตน์) หรือหากกรณีที่ไม่สามารถส่งออกไปได้ ก็จะไม่ได้ส่งผลต่อการส่งออกรวมของไทยมากนัก เนื่องจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่คู่ค้าสำคัญอันดับต้นๆ ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกันค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณการค้าต่างประเทศของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ จึงเชื่อว่าสงครามดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในภาพรวมของไทยมากนัก


ทั้งนี้ หากดูการค้าระหว่างไทยกับอิสราเอล ปี 2565 โดยมูลค่าการค้ารวมไทยกับอิสราเอล อิสราเอลเป็นคู่ค้าลำดับที่42 ของไทย การค้าระหว่างไทย-อิสราเอลมีมูลค่า 1,401.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 10.0) หรือ 49,182 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.2 ของการค้ารวมของไทยเท่านั้น

การส่งออกของไทยไปอิสราเอล อิสราเอลเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 38 ของไทย มีมูลค่า 850.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 2.9) หรือ 29,728 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.3 ของการส่งออกของรวมของไทย โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (สัดส่วน 28.6%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (9.6%) อัญมณีและเครื่องประดับ (9.6%) ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ (4.1%) ข้าว (3.8%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (3.0%) ผลิตภัณฑ์ยาง (3.0%) เม็ดพลาสติก (2.5%) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (2.4%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (2.2%) เป็นต้น

ขณะที่การนำเข้าของไทยจากอิสราเอล อิสราเอลเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 45 ของไทยมีมูลค่า 551.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 22.9) หรือ 19,455 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.2 ของการนำเข้ารวมของไทย โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี (สัดส่วน 26.1%) ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (15.5%) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (10.3%) เคมีภัณฑ์ (6.2%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (5.6%) ยุทธปัจจัย(5.3%) เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ (5.3%) แผงวงจรไฟฟ้า (4.9%) ผัก/ผลไม้และของปรุงแต่ง (4.0%) ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก (2.1%) เป็นต้น


ส่วนการค้าระหว่างไทยกับปาเลสไตน์ ในปี 2565มีมูลค่าการค้ารวมไทยกับปาเลสไตน์ ปาเลสไตน์เป็นคู่ค้าลำดับที่186 ของไทย การค้าระหว่างไทย – ปาเลสไตน์ มีมูลค่า 5.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 113.3) หรือ 134.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.001 ของการค้ารวมของไทยการส่งออกของไทยไปปาเลสไตน์ ปาเลสไตน์เป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 169 ของไทย มีมูลค่า 5.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 178.3 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 113.3) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.002 ของการส่งออกรวมของไทย โดยมีสินค้าส่งออก อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ(สัดส่วน 62.8%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (33.7%) กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ (2.1%) และเครื่องดื่ม(1.4%) เป็นต้น

ขณะที่การนำเข้าของไทยจากปาเลสไตน์ ปาเลสไตน์เป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 233 ของไทย โดยมีมูลค่านำเข้าน้อยมากเพียง 1,316 เหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 408.1) หรือ 44,157 บาท โดยมีสินค้านำเข้า อาทิ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ (สัดส่วน 56.9%) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (22.1%) และนาฬิกาและส่วนประกอบ (21.0%) โดยต้นทุนค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเส้นทางที่มีสงครามผลกระทบที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในพื้นที่ภัยสงครามในเชิงเศรษฐกิจการค้า เช่น ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและค่าประกันภัยในเส้นทางที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติอาจปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งความล่าช้าในการขนส่ง ทั้งนี้ อาจต้องติดตามสถานการณ์ท่าเรือนำเข้าที่สำคัญของอิสราเอลอย่างท่าเรือ Haifa ท่าเรือ Ashdod หากเกิดกรณีที่มีการยกระดับความขัดแย้งขึ้น เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศต่อไป

ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม คือ 1) ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนไปในทิศทางสูงขึ้น โดยหลังเกิดเหตุการณ์สู้รบส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 66 ปรับตัวพุ่งสูงกว่า 4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความกังวลว่าสถานการณ์ความไม่สงบอาจกระตุ้นให้เกิดความไม่มั่นคงในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งน้ำมันในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในอดีตพบว่าความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์มักจะส่งผลให้ ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความกังวลต่อการหยุดชะงักของห่วงโซอุปทานน้ำมันดิบ ทั้งนี้ หากความขัดแย้งไม่ขยายวงกว้างมากขึ้น น่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในตลาดโลก (พื้นที่สงครามมีการผลิตน้ำมันดิบเพียง 7.2 แสนบาร์เรลต่อวัน) และไม่ได้กระทบต่อการขนส่งน้ำมันที่คลองคลองสุเอซมากนัก

2) ผลกระทบต่อการค้ากับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

ภูมิภาคตะวันออกกลาง มีโอกาสที่จะเปราะบางมากขึ้น จากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งขั้วพันธมิตรสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และอาจมีโอกาสลุกลามเกิดความไม่สงบภายในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทย – ตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.6 ของการค้ารวมทั้งหมด ของไทย การส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.8 ของการส่งออกรวม (ขยายตัวร้อยละ 23.5) และการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของการนำเข้ารวม (ขยายตัวร้อยละ 53.5) ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเป้าหมายการส่งออกของไทยชดเชยตลาดหลัก   ที่ชะลอตัวในปีนี้ และเป็นแหล่งนำเข้าพลังงานสำคัญที่สุดของไทยดังนั้น หากสงครามระหว่างอิสราเอล – ปาเลสไตน์ลุกลามสู่ความขัดแย้งในระดับภูมิภาคจะส่งผลให้แนวโน้มการส่งออกไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางได้รับผลกระทบ มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงตามความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ชะลอตัว ขณะที่การนำเข้าพลังงานอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการด้านการขนส่งและอุปทานน้ำมันที่ลดลงในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อไทย คือ การส่งออก หากสถานการณ์ลุกลามจนเกิดภาวะ shock ขึ้นในภูมิภาค เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2554 – 2556 เหตุการณ์ “Arab Spring” ที่เกิดจากการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกกลาง และได้ลุกลามขยายวงกว้างสร้างความวุ่นวาย ทางการเมืองทั้งในอียิปต์ ลิเบีย เยเมน และบาห์เรนทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกให้พุ่งขึ้นเหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทางการค้ากับตะวันออกกลาง และทำให้การส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคดังกล่าวขยายตัวชะลอลง โดยการส่งออกไปตะวันออกกลางในช่วง Arab Spring ปี 2554 มีมูลค่า 10,772 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.4 ; ปี 2555 มีมูลค่า 11,448 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.3 ; ปี 2566 มีมูลค่า 11,516 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.6 ขณะที่ การนำเข้า กรณีที่สถานการณ์ยังอยู่ในวงจำกัด ประเทศไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่ออุปทานน้ำมัน เพราะไม่ได้มีการนำเข้าน้ำมันจากอิสราเอลหรือปาเลสไตน์ และมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากหลากหลายแหล่ง แต่หากสถานการณ์ขยายขอบเขตสู่ระดับภูมิภาคจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลางคือแหล่งนำเข้าสินค้าพลังงาน (น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูปก๊าซธรรมชาติ)ที่สำคัญของไทย โดยไทยนำเข้าสินค้าพลังงานจากตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.3 ของการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวทั้งหมดของไทย

3. ผลกระทบต่อบรรยากาศการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

นิตยสาร Fortune ได้รวบรวมมุมมองนักลงทุน นักเศรษฐศาสตร์ และนักกลยุทธ์ต่อผลกระทบต่อตลาดโลกจากเหตุการณ์โจมตีอิสราเอล สรุปได้ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกอยู่ท่ามกลางอุปสงค์ที่ชะลอตัวทั่วโลกอยู่แล้ว จากการใช้นโยบายการเงินตึงตัว การคงดอกเบี้ยสูงยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภคและต้นทุนของผู้ผลิต โดยความตึงเครียดที่ปะทุขึ้นในตะวันออกกลางหากขยายตัวเป็นวงกว้างและอุปทานน้ำมันยังคงตึงตัวอยู่อาจส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้นอีกในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งจะทำลายความพยายามของธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ที่พยายามจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อ นั่นทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดเงินเฟ้ออีกระลอก ซึ่งจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลงมากขึ้น 

4. ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลมายังไทย โดยด้านนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยลดลง เนื่องจากการประกาศภาวะสงครามทำให้ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ความตื่นตระหนกสร้างความกลัวทำให้นักท่องเที่ยวเก็บเงินเพื่อใช้สำหรับสิ่งจำเป็นรักษาชีวิตมากกว่าที่จะเดินทางท่องเที่ยวอาจทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลที่มาเที่ยวไทย ประมาณ 16,000 ล้านบาทต่อปี (ประมาณการจากรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลในช่วงก่อนการเกิดโควิด-19 ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ทั้งนี้ใน 8 เดือนแรกของปี 2566 นักท่องเที่ยวอิสราเอลที่เดินทางมาเที่ยวไทย มีจำนวน 159,263 คน (คิดเป็นร้อยละ 0.9 ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรวมที่เข้ามาไทย) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า  ร้อยละ 139.6 อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดและการใช้จ่ายต่อหัวไม่ได้สูงมาก การลดลงของนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลจึงไม่น่าจะกระทบกับภาพรวมการท่องเที่ยวไทยมากนัก

5. ผลกระทบต่อการลงทุนกับอิสราเอล โดยนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในอิสราเอลจำนวนน้อยมาก แม้ว่าอิสราเอลจะเปิดกว้างรับนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ 100% (ยกเว้นด้านการทหารและความมั่นคง) โดยสาขาที่รัฐบาลอิสราเอลสนับสนุนเป็นพิเศษ ได้แก่ เคมีอินทรีย์ เครื่องมือแพทย์ พลังงานชีวภาพ โทรคมนาคม และ ICT ทั้งนี้ ปัญหาที่นักลงทุนไทยและต่างชาติกังวล คือ เรื่องของความปลอดภัยจากภาวะสงคราม และต้นทุนการลงทุนที่สูง ทั้งค่าแรงขั้นต่ำ ค่าเช่าพื้นที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภค 

ไม่มีการลงทุนจากอิสราเอลในไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่าในช่วงปี 2563 – 2565 มีโครงการลงทุนของอิสราเอลที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จำนวน 11 โครงการมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 186 ล้านบาท (ปี 2563 มีจำนวน 1 โครงการ มูลค่า 1 ล้านบาท; ปี 2564 มีจำนวน 4 โครงการ มูลค่า 147 ล้านบาท; และปี 2565 มีจำนวน 5 โครงการ 38 ล้านบาท) ซึ่งยังไม่มีโครงการใดได้รับการอนุมัติ

ทั้งนี้ ทางออกทางการทูตมีความจำเป็นเร่งด่วนต่อสถานการณ์นี้ ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันไกล่เกลี่ย และกำหนดเส้นทางสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและสันติ เพื่อที่จะลดระดับความรุนแรงของวิกฤตและแสวงหาสันติภาพร่วมกันของประชาคมโลก บทเรียนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน สะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงที่วิกฤตจะยืดเยื้อยาวนาน จากรากฐานของปัญหาเกิดจาก ข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตที่ดินและอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่มีร่วมกันทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และความขัดแย้งได้บานปลายไปสู่การเผชิญหน้าทางทหาร อย่างเต็มรูปแบบจะก่อให้เกิดผลกระทบกระจายวงกว้างไปทั่วโลก.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

อุณหภูมิลดอีก 1-3 องศาฯ “อีสาน-เหนือ” อากาศเย็นถึงหนาว

กรมอุตุฯ รายงานไทยตอนบน อุณหภูมิลดลงอีก 1-3 องศาฯ กับมีลมแรง อีสานและเหนือ อากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน อากาศเย็น ภาคใต้ฝนเพิ่ม ตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

เกาะติดทุกโหมดการเดินทางเทศกาลปีใหม่ 2568

เกาะติดทุกโหมดการเดินทางขาออกเทศกาลปีใหม่ 2568 ถนนทุกสาย และระบบขนส่งสาธารณะทุกโหมด มีประชาชนทะลักเดินทางตั้งแต่เย็นวานนี้ (27 ธ.ค.) ภาพรวมเป็นอย่างไร พูดคุยกับนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม.