กรุงเทพฯ 11 ต.ค.-บอร์ดบีโอไอเคาะยุทธศาสตร์เชิงรุก 4 ปี ขานรับรัฐบาลใหม่ ดึงลงทุน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ BCG ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการตั้งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศในไทย เตรียมออกมาตรการชุดใหม่ ผลักดันไทยสู่ฐานการผลิตชั้นนำระดับโลก พร้อมอนุมัติ 6 โครงการ ลงทุนกว่า 41,000 ล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) นัดแรก เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ภายใต้รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายให้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานบอร์ดบีโอไอ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในระยะ 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2567 – 2570) โดยให้ความสำคัญกับ 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่จะผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG (โดยเฉพาะเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงานสะอาด) อุตสาหกรรมยานยนต์ (โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (โดยเฉพาะต้นน้ำและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ) อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม บีโอไอจะมุ่งขับเคลื่อน 5 วาระสำคัญเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก ที่มุ่งตอบโจทย์กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้แก่ 1) การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Transformation) 2) การพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี (Technology Development) 3) การพัฒนาและดึงดูดบุคลากรทักษะสูง (Talent Development & Attraction) 4) การส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster-based Investment) และ5) การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Ease of Investment)
นอกจากนี้ บีโอไอจะทยอยออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศให้บรรลุเป้าหมายการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก และตอบโจทย์ 5 วาระสำคัญเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ เช่น การออกมาตรการสนับสนุนการจัดการด้านคาร์บอนเครดิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ มาตรการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมของรัฐหรือที่ดำเนินการร่วมกับรัฐไปผลิตต่อยอดในเชิงพาณิชย์ มาตรการส่งเสริมการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและการจ้างงานในภูมิภาคเพื่อกระจายการลงทุนไปสู่พื้นที่ทั่วประเทศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 – 3 ปีจากนี้ เป็นช่วงที่มีความสำคัญต่อการลงทุนทั่วโลก เพราะมีการปรับโครงสร้างซัพพลายเชนครั้งใหญ่ และเกิดการย้ายฐานการลงทุนมุ่งหน้ามาสู่ภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ถือเป็นโอกาสทองของประเทศไทย เนื่องจากมีความโดดเด่น ด้วยจุดแข็งที่อยู่ใจกลางอาเซียน มีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่ง รวมถึงบุคลากรที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ไทยถือเป็นประเทศที่มีซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมสำคัญที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับรัฐบาลให้ความสำคัญในการผลักดันการลงทุนอย่างมาก เพราะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน การเสนอยุทธศาสตร์เชิงรุกในครั้งนี้ บีโอไอจะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อสร้างมาตรการใหม่ ๆ และพัฒนาระบบนิเวศ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลกอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
พร้อมกันนี้ บอร์ดบีโอไอยังอนุมัติ 6 โครงการลงทุนมีมูลค่า 41,086 ล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก บริษัท ฉางอันออโตโมบิล จำกัด มูลค่าลงทุน 8,862 ล้านบาท มีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) 58,000 คันต่อปี และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) 36,000 คันต่อปี
2) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะด้วยเครื่องกังหันไอน้ำ บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุน 4,892 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม กรุงเทพฯ
3) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะด้วยเครื่องกังหันไอน้ำ บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (แบงค็อก) จำกัด มูลค่าลงทุน 4,892 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช กรุงเทพฯ
4) โครงการ Data Center บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด มูลค่าลงทุน 3,586
ล้านบาท ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
5) โครงการขนส่งทางอากาศ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่าลงทุน 9,314 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องบินโดยสาร จำนวน 5 ลำ ความจุผู้โดยสารรวม 1,670 ที่นั่ง สามารถบรรทุกสินค้ารวม 303 ตัน
6) โครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยว บริษัท ส้งเฉิง โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุน 9,540 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี สำหรับสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 8 เดือน (มกราคม – สิงหาคม) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 1,375 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 และมีมูลค่าเงินลงทุน 465,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งในแง่จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีมูลค่า 270,908 ล้านบาท จาก 533 โครงการ รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง 111,810 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 29,428 ล้านบาท ภาคเหนือ 14,281 ล้านบาท ภาคใต้ 12,529 ล้านบาท ภาคตะวันตก 11,376 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่ด้านคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 8 เดือนแรก มีจำนวน 801 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เงินลงทุน 365,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 90,346 ล้านบาทจาก 228 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 2 ได้แก่ สิงคโปร์ เงินลงทุน 76,437 ล้านบาท จาก 114 โครงการ เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และแผ่นวงจรพิมพ์ และอันดับ 3 ได้แก่ ญี่ปุ่น เงินลงทุน 40,554 ล้านบาท จาก 156 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด ในช่วง 8 เดือนแรก
มีการออกบัตรส่งเสริมจำนวน 1,106 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เงินลงทุนรวม 288,708 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจริงจำนวนมากในระยะ 1 – 2 ปีข้างหน้าอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย