กรุงเทพฯ 5 ต.ค.- รมว.ธรรมนัส รายงานสถานการณ์น้ำนายกฯ โดยกำชับให้เตรียมรับน้ำเหนือที่จะไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดกรมชลประทานแบ่งน้ำด้านเหนือกทม. ออกแม่น้ำบางปะกง ปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เชื่อมั่นกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำได้
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้รายงานสถานการณ์น้ำต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยขณะนี้ได้กำชับให้กรมชลประทานเตรียมพร้อมรับน้ำเหนือที่จะไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ทั้งนี้ได้รับรายงานว่า ปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยายังมีมาก ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยายังมีแนวโน้มสูงขึ้น กรมชลประทานจึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มาจากพื้นที่ตอนบน พร้อมกันนี้ย้ำให้วางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อปกป้องกทม. และปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ
ล่าสุดกรมชลประทานทำหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้แจ้งเตือนประชาชนริมน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เฝ้าระวังระดับน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 20-60 เซนติเมตร เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ภาคเหนือจากร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทย ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้นก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์
จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในระยะนี้ยังคงมีฝนตกหนักและหนักมากบางแห่ง อาจทำให้มีน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำในแม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำเจ้าพระยา โดยที่สถานี C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,500-1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม.ต่อวินาที) ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงมาสมทบกับน้ำที่มาจากแม่น้ำสะแกกรัง อีกประมาณ 100 ลบ.ม.ต่อวินาที ก่อนจะไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 1,600-2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที
กรมชลประทานจะรับน้ำส่วนหนึ่งเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเต็มศักยภาพ ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะควบคุมให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราระหว่าง 1,400-1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะส่งผลให้พื้นที่ด้านท้ายเขื่อน มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 20-60 เซนติเมตร ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง, คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิดตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนริมน้ำบางแห่งได้

สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาปัจจุบัน (5 ต.ค. 66) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,669 ลบ.ม. ต่อวินาที ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,479 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 1,449 ลบ.ม.ต่อวินาที หากปริมาณน้ำเหนือเพิ่มสูงขึ้นและจะส่งผลต่อปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที กรมชลประทานจะประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ทราบในระยะต่อไป
สำหรับการป้องกันพื้นที่กทม. และปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญนั้น กรมชลประทานเร่งผันน้ำด้านเหนือกทม. ออกแม่น้ำบางปะกง โดยฝนที่ตกต่อเนื่องในระยะนี้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขาที่เป็นจุดเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงปลายสัปดาห์นี้จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น
กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนผันน้ำจากพื้นที่ตอนบน และระบายน้ำจากฝนที่ตกเพิ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยทางด้านฝั่งตะวันออก จะระบายน้ำผ่านสถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่ตามคลองต่างๆ ได้แก่ สถานีสูบน้ำกลางคลองหกวาสายล่าง สถานีสูบน้ำหนองจอก และสถานีสูบน้ำประเวศและสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ซึ่งได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮโดรโฟลเพิ่มเติม เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำบางส่วนจากพื้นที่ตอนบนจะไหลผ่านคลองพระองค์ไชยานุชิต ก่อนจะระบายลงสู่อ่าวไทยตามลำดับ ส่วนทางด้านฝั่งตะวันตก ได้ใช้คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านปตร.กึ่งถาวรปากคลองรังสิต เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่กรุงเทพมหานคร และรองรับปริมาณน้ำจากฝนที่จะตกลงมาเพิ่ม ช่วยป้องกันน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล บรรเทาความเสียหายของพื้นที่เศรษฐกิจใหญ่ของประเทศตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.-สำนักข่าวไทย