กรุงเทพฯ 29 ก.ย. – ธปท.จัดงานสัมมนาวิชาการ ประจําปี 2566 “คน : The Economics of Well-Being”ครบรอบ 5 ทศวรรษบทความ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าฯ ธปท.
ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดงานสัมมนาวิชาการ ประจําปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “คน : The Economics of Well-Being” เพื่อต้องการ การยกระดับ “คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในประเทศ” และได้รับแรงบันดาลใจสำคัญจากโอกาสครบรอบ 5 ทศวรรษของบทความ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้ประพันธ์ไว้เมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งถูกถ่ายทอดและเผยแพร่ต่อมากที่สุดในสังคมไทย และยังคงมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับยุคสมัยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดการสัมมนา ได้หยิบยกปัญหาต่างๆ ที่ ดร.ป๋วย ได้กล่าวถึงในบทความ และพัฒนาการที่มีแนวโน้มดีขึ้น ได้แก่ ภาวะโภชนาการของเด็กไทย การศึกษาไทย ตลาดแรงงานสังคมสูงวัย และความเสมอภาคทางโอกาสของผู้หญิงไทย แต่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ไปถึงเป้าหมายที่อาจารย์ป๋วยหวังไว้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมาก ดังนั้น หากเราต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ความหวังเป็นสิ่งจำเป็น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันสร้างความหวังและช่วยกันทำให้ความหวังนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้
ทั้งนี้ ธปท. มีส่วนร่วมในบทบาทดังกล่าว ผ่านการดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน และนโยบายระบบการชำระเงิน เช่น การพัฒนาระบบการเงินให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ อย่างทั่วถึง รวมถึงการสนับสนุนให้ภาคการเงินผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจเพื่อให้คนไทยมีชีวิตในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่สำคัญมีพันธกิจในการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ช่วยสร้างรายได้ที่เป็นดอกผลของการลงทุนในการศึกษาและประกอบอาชีพของผู้คน อย่างไรก็ตาม ความเจริญเติบโตจะต้องควบคู่กับความมีเสถียรภาพด้วย เพราะระบบเศรษฐกิจที่ขาดเสถียรภาพ เช่น เงินเฟ้อที่สูงมาก หรือหนี้สินที่ควบคุมไม่ได้ ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ อันเป็นการทำลายความหวังของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับการสัมมนาปีนี้ มีนักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้บริหาร ร่วมพูดถึงปัญหาต่างๆ และความท้าทายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ จุดประกายความคิดและความหวัง มุ่งสู่จุดหมายของคุณภาพชีวิตที่ดี และแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย.-สำนักข่าวไทย