กทม. 1 พ.ค.- “เศรษฐา” โพสต์คลิปในวันแรงงาน ย้ำทุกคนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย พร้อมยืนยันทุกนโยบายเป็นฟันเฟืองทำงานเชื่อมต่อกันเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งระบบ ตั้งแต่ค่าครองชีพคนจนถึงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ มุ่งยกระดับประเทศตั้งแต่ฐานราก
วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โพสต์คลิปวิดีโอ ผ่าน https://fb.watch/keStxc-m_v/?mibextid=DDXixF โดย นายเศรษฐา ระบุข้อความโดยให้ความสำคัญเนื่องในวันแรงงาน วันที่ 1 พ.ค. 2566 โดยระบุข้อความว่า “แรงงานถือเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ พี่น้องแรงงานต้องได้รับการพัฒนาทั้งด้านศักยภาพและสวัสดิการ คุณภาพชีวิตของทุกคน ต้องดีขึ้น ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยครับ”
เวลาต่อมา นายเศรษฐา ก็ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ส่วนตัวอีกครั้ง โดยย้ำถึงนโยบายปรับค่าแรง 600 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท ว่า การแก้ปัญหาค่าครองชีพและความเหลื่อมล้ำอันต้องมองแบบบูรณาการ ตนเชื่อว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยจำนวนมากมีปัญหาเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ ซึ่งฉายภาพให้เห็นก็คือ 8 ปีที่ผ่านมา เราเห็นมีการปรับค่าแรงขึ้นเพียง 54 บาท จาก 300 บาทเป็น 354 บาท เงินเดือนในการจ้างงานผู้ที่จบวุฒิปริญญาตรี ได้มีการปรับขึ้นเพียง 1 ครั้ง จาก 14,000 เป็น 15,000 บาทในปี 2558 แต่ตนอยากชี้ให้เห็นว่าปัญหาความลำบากของพี่น้องประชาชนชาวไทยนี้ไม่ได้มีแค่มิติเดียว แต่มี 2 เรื่องที่ทับซ้อนกันอย่างแยกไม่ออก โดยมิติแรก ถ้าดูกันแบบตรงๆ ก็จะเป็นปัญหาเรื่องของค่าครองชีพ ซึ่งถ้าหากมองอัตราเงินเฟ้อกับค่าแรงขั้นต่ำเพียงอย่างเดียว จะเห็นว่าระหว่างปี ‘57 กับปี ‘65 เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 8% แต่ มีการปรับค่าแรงเพิ่มถึง 16% ในระยะเวลาเดียวกัน ก็อาจจะดูว่าโอเค แต่ถ้าเรามองลึกลงไปอีกจะเห็นว่าสิ่งจำเป็นต่อการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี นั้นกลับแพงขึ้นมาก ยกตัวอย่างเนื้อหมู สี่ปีที่ผ่านมา ราคาหมูแพงขึ้น 30% ราคาเนื้อไก่แพงขึ้น 20% หรือ ราคาผักบางชนิดที่แพงขึ้นถึง 70% ซ้ำยังพ่วงเข้าไปด้วยภาระหนี้ต่อครัวเรือนที่สูงขึ้นถึง 47% ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากพิษโควิด 19 ที่ทำให้หลายคนตกงาน ทำให้เห็นได้ว่าในชีวิตจริงแล้ว ความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยแย่ลงอย่างน่าสลดใจ แต่กลับถูกเพิกเฉยโดยรัฐ
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ส่วนอีกประเด็นที่ทับซ้อนเรื่องของค่าครองชีพดังกล่าวก็คือปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ที่ซ้ำเติมยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งถ้าจะยกให้เห็นภาพก็คือเปรียบเทียบการเติบโตกว่า 31% ของ Real GDP ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าแรงที่โต 18% และ เงินเดือนวุฒิปริญญาตรีที่ขึ้นแค่ครั้งเดียวเพียง 7% และไม่ปรับอีกเลยในช่วงเวลาดังกล่าว ในขณะเดียวกันคนรวยยังรวยขึ้นก้าวกระโดด โดยเฉพาะกลุ่มนายทุน ที่ได้อานิสงส์จากต้นทุนค่าแรงที่โตช้า ส่งผลให้เกิดการฟื้นฟูและเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปแบบ k-shape ตามที่ตนเคยกล่าวไว้เสมอมา (คนรวยยิ่งรวยห่างจากกลุ่มที่อ่อนไหวทางเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ) ดังนั้น จึงเป็นที่มาของนโยบายต่างๆ ที่เราได้นำเสนอ หากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทอย่างทันทีภายในปี 2567 และภายใน 4 ปีเราตั้งเป้าค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาท รวมถึงเงินเดือนขั้นต่ำของปริญญาตรีที่ 25,000 บาท ซึ่งจากการวิเคราะห์ของเราสามารถทำได้เพราะไม่ได้ปรับทันทีทีเดียว แต่จะค่อยๆ ปรับตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งเราคาดว่าจะทำให้ GDP โตเฉลี่ยที่ 5% ต่อปี นอกจากนั้นแล้ว เราจะเน้นเรื่องการศึกษาเพื่อให้ประชากรของเราได้พัฒนาความรู้ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในบางภาคธุรกิจเช่น ภาคอุตสาหกรรมหรือการผลิตซอฟท์แวร์ ซึ่งทุกวันนี้จ่ายค่าแรงสูงกว่า 600 บาทต่อวัน และ 25,000 บาทต่อเดือนอยู่แล้ว หากเรามีโอกาสได้ดำเนินนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่เราวางไว้ จะเกิดประโยชน์มากมาย เราจะเป็นประเทศที่อยู่ด้วยหลัก ทุนนิยมมีหัวใจ คือ การทำให้เศรษฐกิจโต แต่เป็นการโตทั้งระบบ ไม่เอาเปรียบใคร ทำให้ช่องว่างของความไม่เท่าเทียมนั้นลดลง เราจะดึงดูดคนให้เข้าสู่ระบบการศึกษาและจบปริญญามากขึ้น เป็นการลดปัญหาสังคม และยังสร้างพนักงานมีคุณภาพให้กับภาคเอกชนด้วย นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะช่วยยกระดับส่วนงานภาคราชการซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศอีกด้วย ตนขอยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์เป็นกรณีศึกษา ที่ราชการเป็นอาชีพที่เงินเดือนไม่แพ้ภาคเอกชน ดังนั้นเราต้องมองถึงการทำให้ค่าตอบแทนราชการไทยเหมาะสม และดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงมาทำงาน เพราะที่ผ่านมาตนเชื่อว่ามีคนมีความสามารถมากมายที่อยากจะทำงานราชการ ให้บริการภาคประชาชนอย่างเต็มที่ แต่ติดตรงที่ค่าตอบแทนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
“ผมอยากชวนให้ทุกท่านมองนโยบายนี้เชื่อมโยงกับนโยบายอื่นๆ ของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะเมื่อทำควบคู่กับนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น นโยบายเรียนรู้มีรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต (Learn to Earn) นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000บาท การเพิ่มนักท่องเที่ยว การจัดตั้งเขตธุรกิจใหม่ เราจะเห็นว่าทุกนโยบายล้วนเป็นฟันเพืองสำคัญที่ทำงานร่วมกัน และจะช่วยเสริมสร้างให้ประเทศมี ศักยภาพที่ดีขึ้น และช่วยยกระดับประเทศตั้งแต่ฐานรากครับ” นายเศรษฐา ระบุ .-สำนักข่าวไทย