กรุงเทพฯ 1 พ.ค. – “ธนกร” ถาม “ก้าวไกล“ หวังดีประสงค์ร้ายแรงงานไทยหรือไม่ หลังเรียกร้องขึ้นค่าจ้างแบบไม่สนหลักการคกก.ไตรภาคี ฉะเอาประชาชนมาอ้างแต่จ้องโจมตีการเมืองท่าเดียว ยันรัฐบาลมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องแรงงาน ปรับค่าแรงทุกปี ชี้ต้องดูรอบคอบ สภาพคล่องผู้ประกอบการ-นายจ้างควบคู่ด้วย
นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า กระทรวงแรงงานและรัฐบาลให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนภาคแรงงาน เพราะถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และภาคท่องเที่ยว ล้วนต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือและมีความเชี่ยวชาญ ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้ประกาศข่าวดีมาแล้วว่าเตรียมขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในปีนี้ และปรับขึ้นทุกปี โดยผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะดำเนินการเร็วขึ้นจากแผนงานที่วางไว้
นายธนกร ระบุว่า จากกรณีนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายเซีย จำปาทอง สส.พรรคก้าวไกล ออกมาโจมตีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน และนายกรัฐมนตรี ว่าให้ความหวังผู้ใช้แรงงานลมๆ แล้งๆ ไม่ทำตามที่หาเสียงไว้นั้น ตนมองว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่มีผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ ดังนั้น ฝ่ายการเมือง หรือ รมว.แรงงาน จึงไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ โดยรัฐบาลต้องดูให้รอบด้าน ไม่ใช่มองแค่ฝ่ายลูกจ้างอย่างเดียว ต้องดูถึงสภาพคล่องและกำลังทุนของนายจ้างและผู้ประกอบการ รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กันไปด้วย จึงทำให้คณะกรรมการไตรภาคีต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อีกทั้งนายกฯ และรัฐบาล ยึดนโยบายหลักที่ได้แถลงต่อสภาฯ ไว้ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงานในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีอยู่แล้ว
“การที่พรรคก้าวไกลออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่หาเสียงไว้นั้น มองว่าเป็นการหวังดีประสงค์ร้าย นำผู้ใช้แรงงานมาบังหน้าเพื่อโจมตีทางการเมืองรัฐบาล เพราะถ้าหากกระทรวงแรงงานเข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงคณะกรรมการไตรภาคี ให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างรวดเร็ว ย่อมจะถูกก้าวไกลโจมตีอีกเช่นกัน ซึ่งตามหลักการแล้วทุกรัฐบาลต้องหารือผ่านคณะกรรมการไตรภาคี และต้องคิดอย่างรอบคอบว่าผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบแบกรับต้นทุนไหวหรือไม่ หากมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงเกินไปจน นายจ้างผู้ประกอบการแบกรับไม่ไหว สุดท้ายผลกระทบก็จะกลับมาที่ผู้ใช้แรงงานอยู่ดี การโจมตีทั้งขึ้นทั้งล่องแบบนี้ จึงมองว่าก้าวไกลนำความเดือดร้อนของประชาชนมาบังหน้าเพื่อหวังดิสเครดิตรัฐบาล จึงอยากถามกลับว่าเป็นการหวังดีต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานจริงๆ หรือไม่ หรือหวังผลทางการเมืองเพียงอย่างเดียว” นายธนกร ระบุ.-312-สำนักข่าวไทย