กรุงเทพฯ 19 ก.ย.-ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานผลสำรวจภาคสนามอุปทานและอุปสงค์ของโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย สำหรับรายไตรมาส 2 ปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลพบว่าที่อยู่อาศัยเสนอขายทั้งหมดมีจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 หน่วย ที่เปิดตัวใหม่มีจำนวนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.0 ขณะที่ยอดขายได้ใหม่จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ 32.3
ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยภาวะภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยทั้งโครงการแนวราบและอาคารชุด ที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย ในกรุงเทพฯและ 5 จังหวัดปริมณฑล ในไตรมาส 2 ปี 2566 พบว่า หน่วยที่มีการเสนอขายที่อยู่อาศัยรวม (บ้านจัดสรรและอาคารชุด) 206,246 หน่วย มูลค่า 1,019,318 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.3 และ 5.3 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นหน่วยเกิดจากโครงการเปิดตัวใหม่เพียง 23,080 หน่วย หรือเพียงร้อยละ11.19 ของหน่วยที่เสนอขายทั้งหมด มูลค่า 127,774 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 12.54 ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมดซึ่งหน่วยที่เปิดตัวใหม่มีจำนวนและมูลค่าที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.0 และ 6.6 ตามลำดับ ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรรจำนวน 11,224 หน่วย มูลค่า 80,299 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ 7.8 โครงการอาคารชุดจำนวน 11,856 หน่วย จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ 27.3 มูลค่าโครงการ 47,475 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9
ในด้านยอดขายพบว่าในช่วงไตรมาส 2 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่จำนวนทั้งสิ้น 15,959 หน่วย มูลค่าโครงการรวม 83,499 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -32.3 มูลค่าลดลงร้อยละ -28.4 ในจำนวนดังกล่าวเป็นการขายได้ใหม่ของโครงการอาคารชุดจำนวน 5,909 หน่วย มูลค่าโครงการรวม มูลค่า 24,900 ล้านบาท โดยจำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -56.5 มูลค่าลดลงร้อยละ -53.1 และเป็นโครงการบ้านจัดสรรจำนวน 10,050 หน่วย มูลค่า 59,490 ล้านบาทโดยจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 มูลค่าลดลงร้อยละ -8.9
ด้านที่อยู่อาศัยเหลือขายพบว่าไตรมาส 2 ปี 2566 มีจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายทั้งสิ้น 190,287 หน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ8.0 มูลค่า 935,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 แบ่งเป็น อาคารชุด 74,230 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 มูลค่า290,637 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -1.3 และบ้านจัดสรรจำนวน 116,057 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 มูลค่า 645,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8
ขณะที่ ตลาดที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบเมื่อแยกวิเคราะห์เฉพาะตลาดบ้านแนวราบ ในไตรมาส 2 ปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบว่าหน่วยที่มีการเสนอขายเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบจำนวน 126,107 หน่วย มูลค่า 704,672 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.7 และ 13.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งพบว่าประเภทบ้านเดี่ยวมีการขยายตัวของหน่วยเสนอขายมากที่สุด จำนวนทั้งสิ้น 32,947 หน่วย มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 15.9 เป็นที่น่าสังเกตว่าทาวน์เฮ้าส์เป็นที่อยู่อาศัยแนวราบประเภทเดียวที่มีจำนวนหน่วยเสนอขายลดลงเล็กน้อย โดยมีจำนวน69,356 หน่วย ลดลงร้อยละ 0.3
ในด้านยอดขายใหม่ไตรมาส 2 ปี 2566 ของประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบมีจำนวน 10,050 หน่วย ขยายตัวร้อยละ 0.7 และ มูลค่า 59,490 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -8.9 และมีอัตราการดูดซับทรงตัวอยู่ในระดับ 2.7 แสดงให้เห็นว่าตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบค่อนข้างคงตัวเช่นเดียวกับไตรมาส 1 ปี 2565 ทั้งนี้พบว่าจำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ประเภทโครงการแนวราบทุกประเภทมีอัตราการขยายตัวของจำนวนหน่วยขายได้ใหม่เพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงหลังจากโควิด หรือระหว่างปี 2565 ถึงปัจจุบัน โดยอาคารพาณิชย์และบ้านแฝด มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 26.1 และ 25.6 ตามลำดับ ยกเว้นทาวน์เฮ้าส์มีอัตราการขายได้ใหม่ลดลงร้อยละ -7.5 ในขณะที่บ้านเดี่ยวมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือร้อยละ 3.3 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนหน่วยโครงการเปิดขายใหม่ประเภททาวน์เฮ้าส์ก็ลดลงด้วยเช่นกันโดยลดลงถึงร้อยละ -15.5
ส่วนตลาดที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด ตลาดอาคารชุด ในไตรมาส 2 ปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่าหน่วยที่มีการเสนอขายอาคารชุด 80,139 หน่วย มูลค่า 314,646 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ 0.3 และ มูลค่าลดลงร้อยละ8.9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นหน่วยเกิดจากโครงการอาคารชุดเปิดตัวใหม่สูงถึง 11,856 หน่วย ลดลงร้อยละ 27.3 มูลค่า 47,475 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และเมื่อดูถึงยอดขายใหม่ของอาคารชุดที่เกิดในไตรมาส 2 ปี 2566 จำนวน 5,909 หน่วย ลดลงร้อยละ 56.5 มูลค่า 24,009 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 53.1 ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขายจำนวนทั้งสิ้น 74,230 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 มูลค่า 290,637 ล้านบาทลดลงร้อยละ 1.3
นอจากนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ประเมินภาพรวมปี 2566 และแนวโน้มปี 2567 โดยคาดว่าในปี 2566 จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวนทั้งสิ้น 95,732 หน่วย แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรรจำนวน 56,646 หน่วย โครงการอาคารชุดจำนวน 39,086 หน่วย มีอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 12.5 โดยคาดว่าจะมียอดขายใหม่เข้ามาในตลาดรวมทั้งสิ้น 80,239 หน่วย เป็นยอดขายโครงการบ้านจัดสรรจำนวน 47,375 หน่วย และยอดขายได้ใหม่โครงการอาคารชุดจำนวน 32,864 ลดลงร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบกับปี 2565 มีจำนวนหน่วยหรือขายคงค้างในตลาดทั้งสิ้น198,282 หน่วย จำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ซึ่งถือว่ามีแนวโน้มที่ดีกว่าช่วงปี 2565 แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 127,043 หน่วย และโครงการอาคารชุด 71,239 หน่วย ขณะที่อัตราดูดซับคาดว่าในปี 2566 อัตราดูดซับเฉลี่ยจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8
สำหรับในปี 2567 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดการณ์สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยจะฟื้นตัวขึ้น โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวของผู้ประกอบการในตลาดมีการปรับสมดุลระหว่างสินค้าเหลือขายและสินค้าเข้าใหม่ คาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จำนวนทั้งสิ้น 108,886 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับปี 2566 แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 63,794 หน่วย และโครงการอาคารชุด 45,091 หน่วย รวมถึงคาดว่าจะมียอดขายใหม่เกิดขึ้นในปี 2567 จำนวน 109,184 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.1 แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 62,862 หน่วย และโครงการอาคารชุด46,323 หน่วย ด้านอัตราดูดซับโดยรวมจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 3.0 ในปี 2567 และคาดว่าจะมีหน่วยเหลือขายจำนวนทั้งสิ้น 197,984 หน่วย ในปี 2567 แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 127,976 หน่วยและโครงการอาคารชุด 70,008 หน่วย.-สำนักข่าวไทย