ชุมพร 3 ส.ค.-สนข.ลงพื้นที่แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร เดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง คาด ครม.ของรัฐบาลชุดใหม่ จะลงมติให้ความเห็นชอบในหลักการเดือน ต.ค.นี้
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังนำคณะผู้บริหารสนข.และสื่อมวลชนลงพื้นที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยบริเวณแหลมริ่ว อ.หลังสวน จังหวัดชุมพร ว่าเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทยอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) คือท่าเรือฝั่งอ่าวไทย ในจังหวัดชุมพร เเละท่าเรือฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การเงิน วิศวกรรม สังคม และการออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน โครงการพัฒนาโครงสร้างด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สำหรับพื้นที่จุดบริเวณแหลมริ่วถือว่าเหมาะสมเนื่องจากมีร่องน้ำลึก 17 เมตร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องการโดยไม่ต้องขุดร่องน้ำเพิ่ม และมีเกาะขนาดเล็กรายรอบซึ่งเหมาะกับการป้องกันคลื่นลมจากทะเล
สำหรับแผนการพัฒนาโครงการดังกล่าวรอการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เพื่อเสนอขอความเห็นชอบตามหลักการในเดือนตุลาคมนี้ก่อนที่จะทำการ Road Show เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะของผู้สนใจลงทุนในด้านต่างๆ ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.66 และสนข.จะนำมาปรับปรุงรายละเอียดและวิเคราะห์โครงการตามข้อมูลที่ได้จากการ Road Show นอกจากนี้ เพื่อให้การจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA เป็นไปตามประกาศสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ในวันที่ 16-17 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมโรงแรมอวยชัยแกรนด์ อ.หลังสวน จ.ชุมพร จากนั้นครั้งที่ 2 จะมีขึ้นในเดือนธ.ค.66 ก่อนจะสรุปในครั้งที่ 3 ในเดือน มี.ค.67
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) คือท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ในจังหวัดชุมพร เเละท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง โดยเบื้องต้นเป็นการให้สัมปทาน 50 ปี ซึ่งเอกชนที่ลงทุนจะต้องลงทุนก่อสร้างโครงการ 100% โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 เเห่ง ระยะทางประมาณ 89.35 กิโลเมตร ได้แก่ ทางหลวงมอเตอร์เวย์ขนาด 6 ช่องจราจร ทางรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 2 ทางทั้งไปและกลับ
โครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) เกิดจากจุดได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของประเทศ และการเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของทวีปเอเชีย ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์สามารถลดระยะทาง ร่นระยะเวลาได้มากถึง 4 วัน หากส่งสินค้าจากประเทศอาเซียนฝั่งทะเลจีนใต้ไปยังอินเดียและเอเชียใต้ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และอาจส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จนเป็นผลผลิตในรูปเเบบพร้อมใช้ได้อีกด้วย โดยมีมูลค่าลงทุนรวมทั้งโครงการแลนด์บริดจ์ 1,001,206.47 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น4 เฟส ทั้งนี้ ได้นำต้นแบบของประเทศสิงคโปร์มาดำเนินการ สำหรับข้อมูลโครงการในเฟสแรกประมาณ 522,844.08ล้านบาท
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์แล้ว ยังถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor : SEC ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามันในอนาคต และลดความหนาแน่นของการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ของประเทศมาเลเซียที่ใช้เวลาในการขนส่งยาวนานกว่าอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย