กรุงเทพฯ 24 ก.ค. – ส.อ.ท. เผยห่วงปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่เตรียมรับมือสภาวะเอลนีโญที่อาจลากยาวต่อเนื่องถึง 3 ปี โดยพื้นที่ที่ห่วงที่สุดคือ อีอีซีที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมแหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นพื้นที่สร้างเศรษฐกิจหลักของประเทศ ตลอดจนห่วงใยภาคเกษตรที่มีความเปราะบาง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนกล่าวถึงข้อห่วงใยถึงสภาวะเอลนีโญที่คาดว่า จะเกิดต่อเนื่องไปถึง 3 ปีซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร
นายสมชายกล่าวว่า พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงคือ พื้นที่อีอีซีซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยวซึ่งสร้างเศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยในปี 2566 คาดว่า อาจยังไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากน้ำต้นทุนจากปี 2565 มีเพียงพอแต่เป็นห่วงในปีต่อๆ โดยหากฝนตกน้อยจะทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลลดลงและเพียงพอการใช้งานประมาณ 3 เดือน
ดังนั้นจึงควรเตรียมระบบสูบผันน้ำในโครงข่ายท่อส่งน้ำภาคตะวันออกให้พร้อมใช้งาน เร่งสูบผันน้ำจากอ่างฯ ประแสร์มาเติมในช่วงฤดูฝน ปี 66 นี้ เพื่อรับมือภัยแล้งภาคตะวันออก พร้อมกันนี้แสดงความห่วงใยการขาดแคลนน้ำภาคเกษตรด้วยเนื่องจากเป็นภาคการผลิตที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว
สำหรับส.อ.ท. เตรียมแผนการรับมือภัยแล้งเพื่อการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอของเพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการของทุกภาคส่วน หากสภาวะเอลนีโญยาวนาน ประกอบด้วย
– ระยะเร่งด่วน
1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและแจ้งเตือนสถานการณ์ปัญหาไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบเพื่อให้เตรียมแผนรับมือไว้ล่วงหน้า
2. ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
3. รวบรวมข้อเสนอของภาคเอกชน และจัดทำข้อเสนอไปยังภาครัฐให้เตรียมแผนรับมือภัยแล้ง
– ระยะยาว
1. ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำตามหลัก 3R และพัฒนาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในหน้าแล้ง
2. จัดหาและศึกษาความเหมาะสมในการหาแหล่งน้ำใหม่ หรือแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในหน้าแล้ง เช่น การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล หรือการนำน้ำ recycle จากน้ำเสียชุมชนมาใช้ในพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นต้น
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้สั่งการทุกหน่วยงานดำเนินการให้พร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งจากสภาวะเอลนีโญ พร้อมเน้นย้ำว่า หากรัฐบาลใหม่สามารถจัดตั้งสำเร็จ ขอให้เร่งพิจารณาแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่กว่า 200,000 แห่งเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำ รวมถึงกำหนดมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ส่วนระยะยาวนั้น ส.อ.ท. เสนอให้ภาครัฐเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำใหม่ พัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน รวมทั้งทบทวนแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 20 ปีให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านน้ำ.-สำนักข่าวไทย