กรุงเทพฯ 24 ก.ค.- บทจ.ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 71-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 75-83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังคาดจะได้รับแรงกดดันจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรป
ไทยออยล์ประเมิน แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (24 – 28 ก.ค. 66) ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรปมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นและคาดการณ์ว่าจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับลดลงจากกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร รวมถึง ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ยังคงเติบโต
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารกลางยุโรปในสัปดาห์นี้ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในการประชุมครั้งนี้และจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบ โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และยุโรปในเดือน มิ.ย. 66 ที่ผ่านมาปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ราว 3.0% และ 5.5% ตามลำดับ แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายค่อนข้างมาก
เศรษฐกิจโลกยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดย GDP ไตรมาส 2 ของปี 2566 อยู่ที่ระดับ 6.3% ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 7.3% เนื่องจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ซบเซาลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้ ตลาดจับตารัฐบาลจีนว่าจะมีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ในเร็วนี้
อุปทานน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับลดลง หลังซาอุดิอาระเบียเริ่มดำเนินการปรับลดกำลังการผลิตตามสมัครใจเพิ่มเติมจากข้อตกลงเดิมที่ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. 66 ขณะที่รัสเซียเริ่มมีการปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบลงในเดือน ก.ค. 66 ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงของกลุ่มผู้ผลิตในการปรับลดกำลังการผลิต
การผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ คาดการณ์จะเติบโตช้า เนื่องจากราคาพลังงานอยู่ในระดับ โดยBaker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ สำหรับสิ้นสุด ณ วันที่ 21 ก.ค. ปรับลดลง 6 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 669 ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ มี.ค. 65
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นน้ำมันดิบคาดการณ์จะเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ รวมถึง การส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 0.7 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลง 2.9 ล้านบาร์เรล
การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังกระทรวงน้ำมันของลิเบียรายงานแหล่งผลิตน้ำมันดิบSharara (300 KBD) และ El Feel (70 KBD) กลับมาดำเนินการผลิตแล้ว หลังเกิดเหตุประท้วงและมีการปิดดำเนินการแหล่งผลิตดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา จากการจับตัวนาย Faraj Bumatari ผู้สมัครผู้ว่าการธนาคารกลาง
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ วันที่ 26 – 27 มิ.ย. การประชุมของธนาคารกลางยุโรปวันที่ 27 มิ.ย. และ GDP ไตรมาส 2/2566 ของสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 – 21 ก.ค. 66) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 77.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 81.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 81.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า รวมถึง อุปทานในตลาดที่ตึงตัวมากขึ้นจากการปรับลดการส่งออกของรัสเซียและการหยุดดำเนินการส่งของไนจีเรีย อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวและคาดการณ์ว่าจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน สะท้อนจาก GDP ไตรมาสที่ 2 ที่เติบโตเพียง 6.3% จากปีก่อนหน้า ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 7.3% อีกทั้ง ราคายังได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ปรับเพิ่มขึ้นจากลิเบีย หลังการประท้วงสิ้นสุดลง.-สำนักข่าวไทย