กรุงเทพฯ 19 ก.ค.-ผู้ว่าฯ ธปท.เผยเศรษฐกิจครึ่งปีหลังยังโตได้ดี ชี้เงินเฟ้อลดชั่วคราว แต่เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวส่งผลต่อส่งออกไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ออกมาไม่ค่อยดี ทำให้ส่งออกของไทยปีนี้แทบจะไม่เติบโต
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน ของไทยว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องและครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก ช่วงแรกเรามองว่า เศรษฐกิจจะโตที่ 2.9 แต่ช่วงหลังมองว่าเศรษฐกิจจะโตได้ถึง 4.2 จากปัจจัยการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดี สอดคล้องกับรยได้ และหัวใจหลักคือการท่องเที่ยว ปีนี้น่าจะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 29 ล้านคน อย่างไรก็ตามช่วงครึ่งปีแรกตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติดีเกินคาด ทว่าครึ่งปีหลังกลับพบว่านักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาน้อยกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ มาทดแทนจึงทำให้ยังสามารถคาดการณ์ตัวเลขไว้ที่ 29 ล้านคน
ส่วนกรณีที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ที่ออกมาไม่ค่อยดี ทำให้คาดว่าการส่งออกของไทย ทั้งปีคือแทบจะไม่เติบโต
ส่วนข่าวที่ออกมาจากต่างประเทศ เช่นเรื่องเศรษฐกิจโลก อีกทั้งช่วงนี้มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับจีนออกมาทั้งภาคอสังหาฯการบริโภคการ ส่งออกซึ่งส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออก แต่ในทางกลับกันข่าวจากฝั่งอเมริกากลับเป็นข่าวดีทั้งจากเรื่องการ recession ที่ต่ำเท่าที่คาดการณ์ไว้
ในส่วนของเงินเฟ้อ ช่วงนี้เงินเฟ้อไทยต่ำกว่าที่คาด โดยเราคาดการณ์ไว้ว่าเงินเฟ้อจะต่ำลงจากปัจจัยค่าไฟฟ้าที่มีมาตรการออกมาชั่วคราว แต่ปรากฏว่าในช่วง2 เดือนที่ผ่านมา เงินเฟ้อกลับลดลงมากกว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากปัจจัยราคาอาหาร แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขเงินเฟ้อจะต่ำในลักษณะนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากฐานปีที่แล้วสูง ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นเงินเฟ้อต่ำยาวๆ ไม่มีเพราะเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านการท่องเที่ยว การบริการ รวมถึงการใช้กำลังการผลิตมากขึ้น ซึ่งมีโอกาสส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจก็จะเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษบกิจประกอบกับการมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะเพิ่มรายจ่ายจึงเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงนี้เงินเฟ้อจะลงแต่ยังต้องหาจุดสมดุลของดอกเบี้ย ในสภาวะที่เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามศักยภาพที่ควรเป็น จากที่ผ่านมาดอกเบี้ยนโยบายเราต่ำผิดปกติ ดังนั้นจึงยังต้องมีการทยอยขึ้นดอกเบี้ยให้เหมาะสม เพื่อกลับเข้าไปสู่ normalize จากปัจจัความเสี่ยงจากเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ หลังเศรษฐกิจกลับมาการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีกว่าคาด
“ซึ่งไม่ได้พิจารณาแค่ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเท่านั้น แต่ต้องดูปัจจัยระยะยาวให้กลับสู่สภาวะปกติ หาจุดที่เหมาะสม สร้างความสมดุลของดอกเบี้ยให้เหมาะกับเศรษฐกิจ และขยายตัวได้ตามศักยภาพ เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% และไม่ได้สร้างปัญหาเสถียรภาพการเงิน ไม่ใช่การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการเงินเฟ้อ ตอนนี้ความจำเป็นที่จะต้องหยุดการทำนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกตินั้น ยังไม่เห็น เราไม่อยากให้ตลาดเข้าใจว่าเงินเฟ้อลงแล้ว เหมาะที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย แต่เงินเฟ้อที่ลง เป็นเรื่องชั่วคราว และมีโอกาสกลับขึ้นมา เราอยากเห็นเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบอย่างยั่งยืน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายแท้จริงติดลบ ถ้านาน ก็มีผลต่อพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนของนักลงทุน มีความเสี่ยงในการลงทุน พฤติกรรมการออม การกู้ เป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงให้ดอกเบี้ยกลับมาสมดุล” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
ส่วนเรื่องมาตรการแก้ไขหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การระบาดโควิด-19 ซึ่ง นังมีหนี้4 ส่วน ที่น่าเป็นห่วงคือ 1.หนี้เสียปัจจุบัน 2.หนี้เรื้อรัง 3.หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็ว และ 4.หนี้นอกระบบ ดังนั้น ธปท.จึงจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมภายใต้การแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ให้กู้และผู้กู้ ซึ่งจะทำผ่านมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ที่จะมีผลภายในวันที่ 1 มกราคม 2567 รวมถึงมาตรการแก้หนี้เรื้อรังภายใน 1 เมษายน 2566 อย่างไรก็ดี ธปท.จะมีการออก Directional Paper ภายในไตรมาสที่3/2566 นี้
ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูแลหนี้ครบวงจร ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้เริ่มมีปัญหา และการถูกตัดหนี้ออก ซึ่งก่อนเป็นหนี้ จะเป็นเรื่องของการโฆษณาต่างๆ ให้ผู้ให้กู้ชี้แจ้งรายละเอียดว่าอัตราดอกเบี้ยเท่าไร และผ่อนกี่งวด เพื่อให้ผู้กู้รับรู้และไม่ให้คนเป็นกับดักหนี้
ส่วนความคืบหน้า virtual bank ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เตรียมร่างฯ ที่จะส่งให้กระทรวงการคลังแล้วโดยคาดว่าจะสามารถส่งออกจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้สิ้นเดือนนี้ จากนั้นจะมีการเปิดรับสมัครในช่วงปลายปี ซึ่งต้นปี 2567 ก็จะได้ชื่อผู้สมัครขอจัดตั้ง virture bank และหากทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ก็จะสามารถเปิดให้บริการ virtual bank ได้ในปี 2568 พร้อมแจงสาเหตุที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจำกัดให้ยื่นขอจัดตั้งจำนวน 3 รายและต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 5,000 ล้านบาทนั้น เพื่อให้มั่นใจว่า virtual bank ที่เปิดให้บริการจะต้องมีทุนใหญ่พอสมควี ซึ่งจะต้องมีความเข้มแข็งไร้ความเสี่ยง เนื่องจากปีแรกของการเปิดให้บริการมีโอกาสขาดทุนสูงเพราะต้องลงทุนจำนวนมากเช่น แบงก์กาเกา ของประเทศเกาหลีต้องใช้เวลาถึงสามปีจึงได้กำไรกลับคืนมา ส่วนการจำกัดจำนวนให้มีเพียงสามรายเนื่องจากหากมีแบงค์เยอะก็มี โอกาสเกิดปัญหามากขึ้น.-สำนักข่าวไทย