กรุงเทพฯ 15 ก.ค. – “กอบศักดิ์” ชี้ระบบตลาดทุนยุคที่ผ่านมา สะสมปัญหา-เหลื่อมล้ำ-ไม่ยั่งยืน หนุนแนวคิดสร้างความแข็งแกร่งที่ฐานราก ชี้ตั้งรัฐบาลช้า กระทบแผนอนุมัติงบประมาณประจำปีเลื่อนไป 3 เดือน หนุนเตรียมแผน 2 หาเงินสำรองจ่าย
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ (มหาชน) กล่าวในระหว่างการบรรยายหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจไทย การเงิน ตลาดทุนไทย ในมิติการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวระดับสูง ประจำปี 2566 จัดโดยธนาคารกรุงเทพร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ระบบตลาดและทุนนิยม ซึ่งเป็นแนวคิดหลักขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แม้จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลากหลายด้าน รวมถึงพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นมาตลอดหลายทศวรรษ แต่ในเวลาเดียวกันก็ได้สร้างปัญหาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม การบุกรุกป่า ปัญหามลพิษ PM2.5 ทรัพยากรน้ำขาดแคลน ชนบทที่อ่อนแอลง ปัญหาแรงงานในชุมชนเมือง และความเหลื่อมล้ำในมิติการพัฒนาด้านต่าง ๆ จึงสะท้อนให้เห็นถึงว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของประชาชนในประเทศไทย เช่น ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนที่มีรายได้สูง 20% บน และกลุ่มคนรายได้ต่ำ 20% ล่าง มีความมั่งคั่งโดยเฉลี่ยเติบโตต่างกัน 10 เท่า และมีการถือครองที่ดินแตกต่างกัน 300 เท่า หรือบัญชีเงินฝากที่มีมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นมีประมาณ 1 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า 1% จากทั้งหมด 110 ล้านบัญชี แต่บัญชีเหล่านี้มีสัดส่วนของเงินฝากมากกว่า 70% ของปริมาณเงินฝากทั้งหมด
การพัฒนาให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นนับเป็นเรื่องดี มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในเวลาเดียวกันนั้นมันได้ทำให้เราสั่งสมปัญหาต่าง ๆ เอาไว้มากมาย ที่ผ่านมาเราอาจจะมองระบบแบบนี้ดีเกินไป มันจึงเหมือนกลายเป็น “ความสำเร็จที่ไม่สำเร็จ” เราเคยคิดว่าเราพัฒนาจากข้างบนแล้วมันจะส่งไปถึงข้างล่างให้มันดีเอง แต่สิ่งที่เห็นในวันนี้มันสะท้อนว่าไม่ใช่ และยิ่งถ้าเราไม่เริ่มเปลี่ยนกันตั้งแต่วันนี้ อีก 20 ปีข้างหน้าจะอยู่กันยากมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราต้องพูดถึง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” กันอย่างจริงจัง
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า แนวคิดที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ไขปัญหานี้ควรเริ่มสร้าง “ความแข็งแกร่งจากฐานราก” โดยต้องเข้าใจลงลึกถึงระดับชุมชนที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังใน 3 เรื่อง คือ 1.) ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยสูงมากจนไม่มีทางจ่ายคืนเงินต้นได้หมด ทำให้คนที่เข้าไปสู่วงจรนี้ไม่สามารถหลุดออกมาได้ง่าย 2.) ปัญหาระบบคนกลาง ที่ครอบครองส่วนต่างมากเกินไปจนทำให้รายได้ไปถึงเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และ 3.) ปัญหาการขาดแคลนความรู้และนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น
ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการสร้าง “ความแข็งแกร่งจากฐานราก” จึงควรสนับสนุนให้ 1.) สร้างผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งและสามารถแนะนำให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะการสร้างพื้นฐานการเก็บออม และสกัดปัญหาหนี้นอกระบบ 2.) การลดบทบาทของระบบคนกลาง เช่น การรวมกลุ่มของชุมชนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และขายสินค้าตรงไปที่ผู้บริโภค ซึ่งอาจนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น E-Commerce และ 3.) ควรสนับสนุนภาคเอกชนให้เข้ามาสนับสนุนชุมชนและภาคเกษตรโดยตรง มีแนวทางที่ชัดเจนและยั่งยืน เช่น การหาตลาดมารองรับกับสินค้าเกษตรโดยตรง ในราคาที่เหมาะสม และอาจส่งเสริมด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้เอกชนดำเนินการลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
ขณะเดียวกันภาครัฐควรเข้ามาช่วยลดข้อจำกัดด้านกฎระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้การพัฒนาในมิติใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นเป็นสำคัญ มากกว่านโยบายหรือมาตรการแบบแจกเงินที่ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนถือเป็นโจทย์ให้กับรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามาบริหารประเทศต่อไป
ดร.กอบศักดิ์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงระยะสั้นระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งจะมีตลาดนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้น จึงช่วยชดเชยภาคการส่งออกและภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบ โจทย์สำคัญของรัฐบาลในระยะนี้จึงอยู่ที่การสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยได้ง่ายขึ้น เช่น การผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวที่มีวีซ่าเดินทางเข้าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยอัตโนมัติเช่นกัน ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินการได้ง่ายและรวดเร็ว เป็นต้น และที่สำคัญเมื่อภาคการท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเดินหน้า จะช่วยสร้างรายได้ในประเทศให้หมุนต่อไปได้เช่นกัน ประชาชนมีความเชื่อมั่น กล้าใช้จ่าย เป็นผลดีต่อการบริโภคภายในประเทศอีกทางหนึ่งเช่นกัน
“เชื่อว่าปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลจะส่งผลให้การอนุมัติงบประมาณนี้ในปีนี้ล่าช้าออกไปประมาณ 3 เดือน ซึ่งในทางปฏิบัติน่าจะมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการใช้งบประมาณจ่ายไปพลางไว้ก่อนแล้ว จึงไม่น่ากระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมาก และไม่ควรกดดันว่าเศรษฐกิจจะต้องเติบโตได้มากนัก แต่อยู่ในระดับที่ประคับประคองกันให้ผ่านไปด้วยกันให้ได้มากกว่า จากนั้นเมื่อตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สามารถพิจารณาอนุมัติงบประมาณประจำปีได้ น่าจะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ก็ยังทันเวลาที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าลากยาวไปเป็นปี” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว .-สำนักข่าวไทย