กรุงเทพฯ 13 ก.ค.- ดัชนีหุ้นไทย เคลื่อนไหวในแดนลบเช้านี้ สวนทางตลาดหุ้นเอเชีย ด้านเงินบาทผันผวน รอความชัดเจนโหวต นายกรัฐมนตรี
นส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 34.56 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.30 น.) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.92 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 34.51 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงแรก ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งอ่อนค่าลงตามการร่วงลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ ชะลอลงมากกว่าที่ตลาดคาด และหนุนการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด )ใกล้จะยุติวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับขึ้น 3.0% YoY ในเดือนมิ.ย. (ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 3.1% YoY และต่ำกว่า4.0% YoY ในเดือนพ.ค.) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 4.8% YoY ในเดือนมิ.ย. (ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 5.0% YoY และต่ำกว่า 5.3% YoY ในเดือนพ.ค.) อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจผันผวนในระหว่างวัน เนื่องจากยังมีประเด็นทางการเมืองในประเทศที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.50-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลีใต้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยที่เปิดติดลบเช้านี้ โดยแม้ขยับขึ้นมาบวกเล็กน้อย แตกต่างจากหุ้นเอเชีย ก็เนื่องจากการหวั่นผลกระทบการเมืองซึ่งแม้ โดยต้องจับตาการโหวตของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งคะแนนเสียง 8 พรรคร่วมขณะนี้มี 311เสียง ต้องใช้เสียง ส.ว. 65 เสียง เพื่อให้ เกิน 376 เสียง ซึ่งหากไม่ได้ครบ และบ้านเมืองกลับมาวุ่นวาย ก็ต้องเป็นจุดที่ระมัดระวังการลงทุน
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี พัฒนสิน ประเมินการจัดตั้งรัฐบาล 4 กรณีกรณีที่ 1 คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล+ 8 พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันจะจัดตั้งรัฐบาล 311 เสียง มองความชัดเจนหนุน SET แต่ความเสี่ยงนโยบายต่อตลาดทุนระยะกลางเป็นอะไรที่ต้องติดตาม และอาจจำกัดกรอบราว 1600-1620จุด
กรณีที่ 2 คือ นายพิธา ไม่ได้รับการโหวตเป็นนายกฯ ขณะที่พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำแทนและยังตั้งรัฐบาลกับ8 พรรคร่วมปัจจุบัน 311 เสียง มองความชัดเจนหนุน SET แต่ความเสี่ยงนโยบายต่อตลาดทุนระยะกลางจะต่ำกว่ากรณีที่ 1 จะทำให้แกว่งขึ้นกรอบราว 1680-1720 จุด กลุ่มเคลื่อนไหวดีกว่าตลาด คือ กลุ่มพลังงาน กลุ่มสื่อสาร กลุ่มอสังหาฯ และหากไม่เกิดการชุมนุมที่มีความรุนแรง กลุ่มที่เคลื่อนไหวบวกตามมากลุ่มอิงการบริโภคภายใน คือ กลุ่มธนาคาร กลุ่มค้าปลีก กลุ่มนิคมฯและ กลุ่มท่องเที่ยว
กรณีที่ 3 คือ นายพิธา ไม่ได้รับการโหวตเป็นนายกฯ ขณะที่พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำแทน ขณะที่พลิกขั้วไปจับพรรคว่าที่ฝ่ายค้าน ประเมินเสียงราว 280-310 เสียง มองความชัดเจนหนุน SET แต่ความเสี่ยงนโยบายต่อตลาดทุนระยะกลางจะต่ำกว่ากรณีที่ 1 จะทำให้แกว่งขึ้นกรอบราว 1620-1680 จุด กลุ่มเคลื่อนไหวดีกว่าตลาด คือ กลุ่มพลังงาน กลุ่มสื่อสาร กลุ่มรับเหมาฯ แต่ความเสี่ยงการชุมนุมที่อาจจะเกิดขึ้นมีความตึงเครียดกว่ากรณีที่ 2 จะสร้างแรงกดดันต่อกลุ่มอิงการบริโภคภายในจนกว่าการชุมนุมจะสิ้นสุด คือ กลุ่มธนาคาร กลุ่มค้าปลีก กลุ่มนิคม และกลุ่มท่องเที่ยว
กรณีที่ 4 คือ นายพิธาฯ ไม่ได้รับการโหวตเป็นนายกฯ ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลจะอยู่ในลักษณะเสียงข้างน้อย คือ ว่าที่พรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบัน ประเมินเสียงราว 140-150 เสียง มองกดดัน SET จากทั้งการขับเคลื่อนนโยบายขาดเสถียรภาพ และมีความเสี่ยงการชุมนุมที่อาจจะเกิดขึ้นมีความตึงเครียดมากสุดในทุกกรณี ประเมิน SET กรอบ 1350-1460 จุด.-สำนักข่าวไทย