กรุงเทพฯ 12 ก.ค. – เอกชนหวั่นรัฐบาลใหม่ลากยาว เตรียมเสนอรัฐบาลรักษาการขยายเวลาเปิดยื่นบัญชีรายชื่อแรงงานเถื่อนให้ถูกกฎหมายที่ให้ดำเนินการภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้ ชี้หากยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ อยากให้รัฐบาลรักษาการขยายเวลาตรงนี้ ย้ำหากไม่ดำเนินการกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างมากแน่นอน
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศนั้น โดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 66 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและสามารถทำงานกับนายจ้างไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยให้นายจ้างดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมรูปถ่าย ต่อกรมการจัดหางาน ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยให้นายทะเบียนออกหลักฐานการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวให้แก่นายจ้าง และให้คนต่างด้าวใช้บัญชีรายชื่อดังกล่าว เป็นหลักฐานแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
ทั้งนี้ กรมการจัดหางาน ดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจยังคงปรากฏอยู่ เนื่องจากคนต่างด้าว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 65 ที่ไม่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 500,000 คน ปัจจุบันกลายเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ ในขณะที่นายจ้าง/สถานประกอบการ มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางส่วนจำเป็นต้องจ้างงานคนต่างด้าวที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด หรือเข้าเมืองโดยไม่ถูกต้อง กระทรวงแรงงานจึงเสนอแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้รับข้อร้องเรียนถึงประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากสมาชิกผู้ประกอบการ สมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการจัดประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลมาโดยตลอดเป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน อย่างใกล้ชิด โดยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาและมุ่งเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นรูปธรรม ซึ่งต้องขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้มีมาตรการเชิงรุกต่างๆ ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของประเทศไทย และแก้ไขปัญหาการแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน
” ภาคเอกชนยังกังวลอยู่จากแนวทางดังกล่าวที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 66 นี้ และยังไม่รู้ว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้ต่อไปเมื่อไหร่ ดังนั้น คาดหวังหากยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่มาก็อยากให้รัฐบาลชุดรักษาการณ์ได้พิจารณาผ่อนผันขยายเวลาให้กับแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ออกไปอีกเพื่อให้ภาคเอกชนต่างๆ สามารถมีแรงงานที่ถูกกฎหมายสามารถเข้ามาช่วยภาคอุตสาหกรรมต่างๆของไทยที่ยังจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวต่อไปได้อีกและหากได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแล้วค่อยพิจารณาต่ออายุแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายไปจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 68 กันได้ต่อไป”นายพจน์กล่าว
อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจเอกชนยังคงต้องอาศัยกำลังแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และผู้ประกอบการ SMEs ยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และมีความต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ .-สำนักข่าวไทย