นนทบุรี 30 มิ.ย. – อธิบดีกรมการค้าภายใน เผยภาพรวมราคาสินค้าเกษตรหลายรายการยังอยู่ระดับที่ดี ทั้งข้าวและผลไม้ในภาคใต้ ที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาด ทั้งทุเรียน มังคุด และเงาะ ซึ่งระดับราคาในปีนี้สูงกว่าปีที่ผ่านมา
นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ราคาข้าวขณะนี้อยู่เกณฑ์ดี โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่กิโลกรัมละ 14,600 บาท จากเดือนก่อนที่ 10,034 บาท, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ กิโลกรัมละ 13,750 บาท สูงจากเดือนก่อนที่ 13,244 บาทต่อกิโลกรัม, ข้าวเปลือกปทุมธานี กิโลกรัมละ 11,350 บาท สูงจากเดือนก่อนที่ 10,983 บาทต่อกิโลกรัม โดยเฉพาะข้าวเปลือกเหนียว ราคาอยู่ในระดับสูง ถือเป็นปีทองของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียว ขณะนี้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 13,200 บาท จากเดือนก่อนกิโลกรัมละ 12,488 บาท ส่วนมันสำปะหลัง ราคาลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่กิโลกรัมละ 3.35 บาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 11.40 บาท
ขณะที่กลุ่มอาหารสดส่วนใหญ่ทรงตัว เช่น เนื้อหมู ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 140-150 บาท และไข่ไก่ ฟองละ 4.80 บาท ส่วนราคาผักลดลงต่อเนื่อง ทั้งผักคะน้า ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี และผักที่สูงขึ้นก่อนหน้านี้ อย่างต้นหอม ลดลงอยู่ที่กิโลกรัมละ 77 บาท จากสัปดาห์ที่ผ่านมา กิโลกรัมละ 84 บาท ผักชี ทรงตัวที่กิโลกรัมละ 91 บาท พริกขี้หนู ลดลงมาเหลือ 82 บาทต่อกิโลกรัม จากสัปดาห์ก่อน ที่กิโลกรัมละ 86 บาท และมะนาว ปรับลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ลูกละ 3.35 บาทแล้ว ส่วนปัญหาเอลนิลโญ ต้องยอมรับว่าจะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดให้ลดลง เช่น ไข่ไก่ ที่จะมีขนาดเล็กลง และผัก ทำให้คุณภาพลดลง อาทิ ใบหยิก แต่ผู้บริโภคจะได้ซื้อในราคาที่ถูกลงตามคุณภาพ
นอกจากนี้สินค้าอุปโภคบริโภค ในภาพรวมราคายังทรงตัว และมีการจัดโปรโมชั่นหลายรายการ เช่น น้ำมันพืชปาล์ม จำหน่ายขวดลิตรละ 45-47 บาท และน้ำมันถั่วเหลือง ลดเหลือ 58 บาท จาก 60 บาท รวมถึงผลิตภัณฑ์ซักผ้า ที่มีการลดราคาต่อเนื่องในห้างต่างๆ ส่วนผลไม้ ขณะนี้เป็นช่วงผลผลิตภาคใต้ ที่ออกแล้วประมาณ 50% ซึ่งได้ใช้มาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2566 รวม 22 มาตรการ ทำให้ราคาผลไม้ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี มีทั้งการจัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคในหลายจังหวัด และลงพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มหยุดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร หลังพบมีความพยายามจะกระทำการดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้สร้างพันธมิตรใหม่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ดูแลบ้านจัดสรรและคอนโดฯ 6 รายใหญ่ เพื่อระบายผลไม้ส่งไปยังครัวเรือน คาดว่าเบื้องต้นน่าจะมีคำสั่งซื้อใน 54 หมู่บ้าน 25 คอนโดฯ ตั้งเป้าระบายผลผลิต 5,000 ตัน รวม 50,000 ครัวเรือน
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า ราคาผลไม้ปีนี้ดีมาก ซึ่งผลผลิตภาคใต้ โดยทุเรียนออกแล้ว ประมาณ 50% มังคุด และเงาะ ออกแล้วประมาณ 30-40% ในส่วนของราคาทุเรียนเกรดเอ-บี กิโลกรัมละ 120-125 บาท จากปีที่แล้ว ราคา 110 บาท, เกรดซี กิโลกรัมละ 90-100 บาท จากปีที่แล้วอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม และเกรด D อยู่ที่กิโลกรัมละ 75-80 บาท จาก 50-60 บาท ซึ่งทุเรียนเกรดรอง มีความต้องการสูงมาก เพื่อส่งออกไปจีน มั่นใจว่าภาพรวมราคาทุเรียน ดีต่อเนื่อง ส่วนมังคุด มีการรับซื้อต่อเนื่องดันราคายังดี ราคาเฉลี่ย 60-95 บาทต่อกิโลกรัม จากปีที่แล้ว 37 บาท และราคาเคยขยับขึ้นไปถึง 120 บาทต่อกิโลกรัม, มังคุดเกรดคละ กิโลกรัมละ 35 บาท จาก 25 บาท ในปีที่แล้ว
ส่วนเงาะปีนี้ผลผลิตมีมากขึ้น จากปีที่ผ่านมาผลผลิตหายไป 90% ซึ่งราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 30-35 บาท จากปีที่ผ่านมา 26 บาท ซึ่งได้เดินหน้าเชื่อมโยงเงาะไปจำหน่ายในกิจกรรมต่างทั่วประเทศ และปริมาณผลผลิตที่ยังกลับมาไม่มากนัก จึงคาดว่าภาพรวมราคาน่าจะมีแนวโน้มปรับขึ้นได้อีกด้วย
สำหรับพี่น้องเกษตรกร นอกจากราคาสินค้าเกษตรหลายรายการจะอยู่ในระดับที่ดีแล้ว ขณะนี้ราคาปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนสำคัญอย่างปุ๋ย ก็มีการปรับลดลงต่อเนื่อง ส่วนราคาอาหารสัตว์ที่ยังราคาสูงอยู่นั้น กรมการค้าภายในเตรียมสนับสนุนลดต้นอาหารสัตว์ ใช้วิธีการเชื่อมโยงจากโรงงานผู้ผลิตไปยังกลุ่มเกษตรกรโดยตรง
ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้มีข่าวดีของพี่น้องเกษตรกร จากราคาปุ๋ยที่ลดลงต่อเนื่อง และระดับสตอกปุ๋ยทั่วประเทศ อยู่ที่ 1.2 ล้านตัน ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอมั่นใจได้ว่าไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน สำหรับราคาในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงปลายฤดูเพาะปลูกของสหรัฐและบราซิล ส่วนจีนสิ้นสุดฤดูเพาะปลูกไปแล้ว ทำให้ความต้องการในตลาดโลกไม่เพิ่มขึ้น โดยแม่ปุ๋ย และปุ๋ยสูตรสำเร็จ ได้ปรับลดลงทุกสัปดาห์ อาทิ ปุ๋ยยูเรีย ลดไปแล้ว 51% และคาดว่าราคายังมีแนวโน้มลดลงอีก โดยกรมการค้าภายในจะติดตามใกล้ชิดเพื่อป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคา
ส่วนอาหารสัตว์นั้น วัตถุดิบสำคัญอย่างข้าวโพด ราคายังทรงตัวสูง ซึ่งกรมการค้าภายในได้หารือกับกรมปศุสัตว์ ผู้เลี้ยงทั้งหมูและไก่ เตรียมสนับสนุนลดต้นทุนอาหารสัตว์ให้กับผู้เลี้ยงรายย่อย เบื้องต้นจะใช้รูปแบบเชื่อมโยงอาหารสัตว์จากโรงงานผู้ผลิตไปยังกลุ่มเกษตรกรโดยตรง.-สำนักข่าวไทย