กองทุนสิ่งแวดล้อม กับการบริหารจัดการทรัพยากรฯ อย่างยั่งยืน

26 มิ.ย. – ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ประชากรสัตว์ป่าลดลง พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลาย ขณะที่การเพิ่มขึ้นของประชากร การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน กระบวนการผลิตที่ทำลายสภาพแวดล้อมและการดึงเอาทรัพยากรไปใช้มากจนเกินไป ทำให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความซับซ้อนและท้าทายมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงได้กำหนดให้มีกลไกทางการเงินที่มั่นคง ที่จะมาทำหน้าที่สนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน และมีธรรมาภิบาล ที่เรียกว่า “กองทุนสิ่งแวดล้อม”


กองทุนสิ่งแวดล้อมคืออะไร
“กองทุนสิ่งแวดล้อม” เป็นทุนหมุนเวียน จัดตั้งขึ้นในกระทรวงการคลังตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เพื่อเป็นกลไกทางการเงินที่สร้างแรงจูงใจในการสนับสนุนหน่วยงานเป้าหมายต่าง ๆ ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม (NGOs) ในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการจัดการหรือจัดให้มีระบบบำบัดอากาศ น้ำเสีย และระบบกำจัดของเสีย สำหรับควบคุม บำบัด และกำจัดมลพิษ รวมทั้งการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามหลักการผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย โดยให้การสนับสนุนเงิน ทั้งในลักษณะเงินอุดหนุนและเงินกู้ ซึ่งกรมบัญชีกลางเป็นผู้เก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของกองทุน และดำเนินการเบิกจ่ายเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัตินี้

“กองทุนสิ่งแวดล้อม” มีเงินทุนเริ่มแรก 5,000 ล้านบาท จากเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิต จำนวน 500 ล้านบาท และเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 4,500 ล้านบาท และในช่วงปี พ.ศ. 2536-2538 รัฐบาลได้จัดสรรให้อีก 1,250 ล้านบาท และ 350 ล้านบาท รวมทั้งขอรับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JBIC) จำนวน 2,718 ล้านบาท นอกจากนี้ กองทุนสิ่งแวดล้อมยังมีรายได้หมุนเวียนจากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม และเงินค่าบริการ หรือ ค่าปรับที่จัดเก็บได้จากการดำเนินการระบบน้ำเสียรวม หรือระบบกำจัดของเสียรวมของราชการที่จะได้รับในแต่ละปี (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับสนับสนุนเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมต้องส่งคืน) เป็นส่วนหนึ่งของรายรับที่จะนำไปใช้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จัดตั้งขึ้นอีกด้วย


กองทุนสิ่งแวดล้อมมีรายได้จากไหน
กองทุนสิ่งแวดล้อมมีรายได้มาจากเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิต เงินค่าบริการและค่าปรับที่จัดเก็บตามพระราชบัญญัตินี้ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับจากภาคเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินจากดอกผลและประโยชน์ใดๆ ที่เกิดจากกองทุนนี้

ผลงานสำคัญของกองทุนสิ่งแวดล้อมในรอบ 3 ปี
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “กองทุนสิ่งแวดล้อม” ได้สนับสนุนเงินแก่กลุ่มเป้าหมายทั้งในลักษณะเงินอุดหนุนและเงินกู้ เพื่อดำเนินโครงการด้านการจัดการมลพิษ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้

ปีงบประมาณ 2564
สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 75 จังหวัด รวมเป็นจำนวน 632 แห่ง ดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง เพื่อให้เกิดชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะที่ต้นทาง อย่างน้อยจำนวน 1 หมู่บ้าน/ชุมชน และปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด หลังจากการดำเนินโครงการลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชนต้นแบบก่อนเริ่มดำเนินโครงการ


ปีงบประมาณ 2565
-แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยสนับสนุนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 3 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 69 โครงการ ดำเนินโครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” วงเงินรวมกว่า 66 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี (1 กุมภาพันธ์ 2564 – 31 มกราคม 2565) เพื่อจัดเก็บเชื้อเพลิงนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยกว่า 1,300 ตัน และลดจุดความร้อน (Hot Spot) ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

-สนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) 47 แห่ง ในพื้นที่ 16 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่าย ทสม. ในการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน วงเงินรวม 23.4 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี 6 เดือน (1 มีนาคม 2564 – 31 สิงหาคม 2565) เพื่อดูแลจัดการไฟป่าและหมอกควัน จำนวน 300,000 ไร่ เกิดแนวกันชน จำนวน 600 กิโลเมตร ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว จำนวน 70,000 ต้น เกิดเครือข่ายเฝ้าระวังไฟป่า จำนวน 190 เครือข่าย และเกิดแผน กฎ กติกา ด้านการจัดการไฟป่า จำนวน 130 ฉบับ

ปีงบประมาณ 2566
-สนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ทั่วประเทศ รวม 95 พื้นที่ วงเงินรวม 47.5 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมเครือข่าย ทสม. ในการดำเนินงาน โคก หนอง นา โมเดล และการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี (1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2567) เพื่อให้เกิดพื้นที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่สอดคล้องกับโคก หนอง นา โมเดล จำนวนรวม 1,548 ไร่ รวมถึงเกิดพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นจากการปลูกต้นไม้จำนวน 174,575 ต้น เกิดพันธุ์สัตว์น้ำ และสัตว์บก จำนวนรวม 474,675 ตัว สร้างความหลากหลายทางชีวภาพในไร่นา เกิดความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศเกษตร คุณภาพดิน น้ำ และอากาศ ดีขึ้น จากการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรกว่า 101 ตัน เกิดการฟื้นฟู/บำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยอินทรีย์กว่า 477 ตัน

-สนับสนุนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศระดับจังหวัด วงเงินรวม 88.9 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี (1 พฤศจิกายน 2565 – 31 ตุลาคม 2567) เพื่อจัดทำรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกและแผนการลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด และจัดทำรายงานสภาพการณ์ความเสี่ยง (Risk Profile) จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการปรับตัวและจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับพื้นที่ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ ทสจ. เพื่อให้สามารถติดตามประเมินผลมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดและสามารถจัดทำรายงานสภาพการณ์ความเสี่ยงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

ตลอดระยะเวลา 31 ปีที่ผ่านมา กองทุนสิ่งแวดล้อมได้ทำหน้าที่เป็นกลไกทางการเงินของประเทศไทย ในการส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งรูปแบบการปฏิบัติงานในเชิงรับ ตลอดจนการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐในเชิงรุก ทั้งยังได้ปรับทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และสนับสนุนนโยบายสำคัญๆ ของประเทศ ปรับกระบวนการพิจารณาโครงการ และช่วยให้คำแนะนำต่อการพัฒนาโครงการ เพื่อให้โครงการสามารถเดินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้บรรลุเป้าหมายในการจัดการมลพิษรวมทั้งสามารถเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในระดับพื้นที่ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เข้มแข็งและมั่นคง เพื่อสร้างฐานในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศในระยะยาว.

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

อัญเชิญเรือพระที่นั่งกลับพิพิธภัณฑ์

หลังสร้างความตราตรึงให้กับชาวไทยและคนทั้งโลก กับความงดงามของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กองทัพเรือ และกรมศิลปากร เริ่มอัญเชิญเรือพระที่นั่ง และเรือพระราชพิธี กลับเข้าสู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องใช้ความละเอียด รอบคอบ เพราะเรือทุกลำถือเป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดิน

ย้อนรอยเส้นทางชีวิต “บิ๊กโจ๊ก”

เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้วที่เส้นทางตำรวจของ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ต้องยุติลง หลังถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน กรณีพัวพันเว็บพนันออนไลน์ จากนี้ชะตาชีวิต “บิ๊กโจ๊ก” ขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช. ว่าจะได้กลับมาสวมชุดตำรวจอีกหรือไม่

“ปานเทพ” เปิดหลักฐานสัญญาชัด 71 ล้านเป็นชื่อ “มาดามอ้อย”

“อ.ปานเทพ” เปิดหลักฐานหนังสือสัญญาบอกชัด 71 ล้านบาท เป็นชื่อ “มาดามอ้อย” เปิด 3 รายชื่อให้เร่งตรวจสอบ หวั่นโยกย้ายทรัพย์สิน