กระทรวงเกษตรฯ 14 มิ.ย.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯสั่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
ให้ผู้ว่าการยท.ไปประชุมร่วมกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย
ผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ของโลกสุดสัปดาห์นี้ กำหนดการผลิต การส่งออกร่วมกัน
หวังดึงราคาให้ขยับขึ้น
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กล่าวถึงมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหายางพาราที่ตกต่ำในขณะนี้ ว่า
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลา
4
โครงการเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางในช่วงที่สถานการณ์ราคายางมีความผันผวน
นอกจากนี้จะมีการตั้งตลาดกลางเพื่อรับซื้อยางพาราจำนวน 108
แห่งทั่วประเทศโดยจะทำให้สำเร็จภายในปี 2560 พร้อมสั่งการให้นายธีธัช สุขสะอาด
ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เดินทางไปยังประเทศอินโดนีเซีย
ในช่วงวันที่ 17-18 มิถุนายนนี้
เพื่อกำหนดการผลิต การส่งออกร่วมกันของ 3 ประเทศคือไทยอินโดนีเซียและมาเลเซียในฐานะผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ของโลก
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า
ยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีคุณภาพนั้น พลเอกฉัตรชัย ระบุว่า
ข่าวลักษณะนี้ไม่เป็นความจริง เนื่องจากยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีคุณภาพปกติ
และบริษัทใหญ่ ๆ ที่รับซื้อ ก็ยังรับซื้ออย่างปกติไม่ได้มีการหยุดรับซื้อแต่อย่างใด
สำหรับราคายางที่ตกต่ำในขณะนี้สาเหตุอีกข้อหนึ่งคือการปล่อยข่าวเพื่อทำให้ราคาตกและจะได้มีการช้อนซื้อในโอกาสเดียวกัน
ด้านพลเอกฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการกยท.กล่าวว่า
ที่ผ่านมามีคนบอกว่าตนเป็นทหารไม่มีความรู้เรื่องยาง แต่วันที่เข้ามารับตำแหน่งประธานกยท.
ราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 กว่าบาทและราคาสามารถขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 70 กว่าบาท ซึ่งปัจจุบันราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ
58 บาทนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ
โดยกยท.มีแนวทางและมาตรการในการแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ 6 มาตรการ ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการผลิต
ระบบตลาด การช่วยเหลือปัจจัยและส่งเสริมการแปรรูป
การส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ มาตรการระหว่างประเทศ
รวมถึงมาตรการเร่งด่วนที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้
จะรองรับและแก้ปัญหาให้ผู้เกี่ยวข้องกับยางพาราทั้งระบบ
นายธีธัช กล่าวว่า
ได้วางมาตรการระหว่างประเทศในการร่วมประชุมกับคณะกรรมการด้านกลยุทธ์การตลาดครั้งพิเศษ
(CSMO) เพื่อเร่งกำหนดมาตรการทางการตลาดที่มีต่อสถานการณ์ราคายางในปัจจุบัน
ในวันที่ 17-18 มิถุนายนนี้ที่ประเทศอินโดนีเซีย
ซึ่งมาตรการที่แก้ไขปัญหา เป็นความร่วมมือของประเทศผู้ส่งออกระดับโลก เช่น
ข้อตกลงเรื่องการจำกัดการส่งออก แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 3 ประเทศร่วมกัน
เพื่อหาแนวทางการสร้างเสถียรภาพราคายาง และแก้ไขสถานการณ์ราคายางในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามมุมมองของต่างชาติมองว่า ดีมานต์และซัพพลายในตลาดปัจจุบันค่อนข้างสมดุลกัน
แต่ประเด็นราคาอาจเกิดจากการให้ข่าวที่ส่งผลต่อสภาวการณ์ของตลาดล่วงหน้าอย่างมาก
นอกจากนี้ กยท.
ได้ผลักดันสินค้ายางพาราไทยเกรดพรีเมี่ยมมาตรฐาน GMP สู่ตลาดยุโรป โดยจัดทำแผนบริหารจัดการผลผลิตยางในประเทศ
เตรียมเปิดตลาดยาง GMP ไปยังกลุ่มประเทศยุโรปปลายปีนี้
มุ่งเน้นสร้างตลาดใหม่ให้แก่เกษตรกร
และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับรองผลผลิตตามมาตรฐาน GMP ในเวที ISO/TC 45 Rubber and Rubber
Products เป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตยางของเกษตรกร
และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้ง
เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่มีมาตรฐานสู่ระดับสากลต่อไป-สำนักข่าวไทย