สภาพัฒน์ 22 พ.ค. – สภาพัฒน์แนะเร่งผลิตบุคลากรไอที ดิจิทัล ต้องการแรงงาน 2-3 หมื่นคนต่อปี เป็นห่วงหนี้ครัวเรือน ระเบิดเวลายังฉุดรั้งการเติบโตเศรษฐกิจ ยอมรับการท่องเที่ยวสายมูเตลู ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเร้นลับทางธรรมชาติ มาแรง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สภาพการจ้างงานไตรมาสแรกปี 66 มีจำนวน 39.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.6 เพราะมีการเพาะปลูกเพิ่ม การจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.7 จากการจ้างงานค้าส่ง ค้าปลีก โรงแรมและภัตตาคาร สอดรับกับการท่องเที่ยวขยายตัว สำหรับอัตราการว่างงานเริ่มดีขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 1.05 มีผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน การว่างงานจึงเริ่มเข้าสู่ระดับปกติ
สภาพัฒน์ยังติดตามปัญหาการขาดแคลนแรงงานคุณภาพในกลุ่มแรงงานดิจิทัลและไอที เนื่องจากสังคมปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล แต่สถาบันการศึกษามีผู้สำเร็จการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ได้เพียง 1.4 หมื่นคนต่อปี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานสายไอทีประมาณ 2-3 หมื่นอัตราต่อปี และต้องติดตามพฤติกรรมการเลือกงาน โดยคำนึงถึงค่าตอบแทนสูงและความสมดุลในชีวิตของคนรุ่นใหม่ และชี้แนะการหางานทำตามความต้องการของแนวโน้มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ต้องปรับหลักสูตรรองรับความต้องการของเอกชนโปรแกรมเมอร์ งานออกแบบดิจิทัล เทคโนโลยีชั้นสูง สอดแทรกในทุกอุตสาหกรรม
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไตรมาส 4 ปี 2565 มูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ขยายตัวในอัตราชะลอลง ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 4 หนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนร้อยละ 86.9 ของจีดีพี สินเชื่อยานยนต์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องจับตาดูเป็นพิเศษ เพราะได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.1 ไตรมาส 2 ในปี 65 เพิ่มเป็นร้อยละ 13.6 ในไตรมาส 3 เพิ่มเป็นร้อยละ 13.7 ในปี 65 สำหรับปัญหาหนี้เสีย NPL จากปัญหาโควิด-19 นับว่ายังทรงตัว โดยสินเชื่อบุคคลคลยังสูงร้อยละ 7.6 สินเชื่ออยู่อาศัยร้อยละ 4.6 ประชาชนยังเป็นหนี้บัตรเครดิตระดับสูง จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อาจฉุดรั้งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จึงต้องเร่งแก้ปัญหาจากทุกหน่วยงาน เพราะหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ อาจเป็นระเบิดเวลาของสังคมไทย หากพุ่งขึ้นมาจำนวนมาก นับว่ายากต่อการทำให้ลดลงได้ในระยะเวลาอันสั้น ประชาชนต้องลด ละ เลิก การใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ก่อนสร้างภาระหนี้ใหม่
นายดนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า โอกาสการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ หรือสายมูเตลู นับว่าเติมโตขึ้นมาก เพราะการเดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อขอพร แก้บนสิ่งศักดิ์ ผสมผสานกับสิ่งเร้นลับทางธรรมชาติ โหราศาสตร์ ตลอดจนวัตถุมงคล เครื่องราง ของขลัง การแสวงบุญ ทั่วโลกขยายตัว 3 เท่า ในช่วง 10 ปี มูลค่า 13.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 65 ขณะที่ประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะเกิดเงินหมุนเวียน 10,800 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.36 ของมูลค่าการท่องเที่ยวในปี 2562 จึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวให้ชัดเจน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแต่ไม่ลุ่มหลงงมงายมากเกินไป.-สำนักข่าวไทย