กรุงเทพฯ 3 พ.ค.- กกร. เตรียมเสนอ 6 แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจแก่พรรคการเมืองและรัฐบาลในอนาคต วางกรอบ GDP 66 โต 3-3.5% ผู้ประกอบการเตรียมขึ้นราคาสินค้ารอบสอง 5-10% เหตุต้นทุนยังสูง ห่วงภัยแล้งทำต้นทุนภาคอุตสาหกรรม-เกษตรพุ่งขึ้นอีก
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.วันนี้ได้ทำ 6 ข้อเสนอเตรียมยื่นต่อพรรคการเมือง และรัฐบาลในอนาคต สำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ดังนี้
- 1. ด้าน Competitiveness เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน
- 2. ด้าน Ease of Doing Business เช่น ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย เร่งปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ
- 3. ด้าน Digital Transformation เช่น ส่งเสริมการเป็น Technology hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี
- 4. ด้าน Human Development เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย และต่างด้าว
- 5. ด้าน SME เช่น สนับสนุนให้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และเร่งการปรับโครงสร้างหนี้จัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
- 6. ด้าน Sustainability เช่น ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG และการจัดทำแผนรองรับปัญหาการขาดแคลนอาหาร (Food Security) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
นายเกรียงไกร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวมีโอกาสแตะ 30 ล้านคน ในปี 2566 ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มมากขึ้น และเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้ GDP ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก กกร.จึงคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 โตที่ระหว่าง3.0-3.5 การส่งออก -1.0 – 0.0 เงินเฟ้อ 2.7 – 3.2
โดยคาดว่าการส่งออกไทยจะหดตัวในช่วงครึ่งปีแรกก่อนจะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ทั้งนี้ภาวะต้นทุนยังอยู่ในระดับสูงและอาจปรับตัวลงช้า ราคาในตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักยังทรงตัวในระดับสูงและมีแนวโน้มลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนยังไม่สิ้นสุด ผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้ารอบที่2 ประมาณ 5-10% ขึ้นอยู่กับชนิดสินค้าและต้นทุน
กกร. ยังมีความกังวลต่อความเสี่ยงภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออก ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. 2566 และอาจรุนแรงติดต่อกันมากถึง 3 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง กระทบต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง กกร. จึงเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีฯ ขอให้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งระยะเร่งด่วน 3 ปี และระยะยาว เพื่อเร่งวางมาตรการรับมือภัยแล้ง และเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำภาคตะวันออกให้แล้วเสร็จตามแผน เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้หลายประเทศทั่วโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร แต่มั่นใจว่าไทยไม่ขาดแคลน แม้จะเกิดปัญหาภัยภัยแล้งก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณอาหาร แต่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ประกอบกับเงินเฟ้อที่ยังสูง ต้นทุนก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก ส่วนค่าไฟมีแนวโน้มลดลงจากราคาพลังงานที่ลดลงแต่เห็นว่าควรมีการปรับโครงสร้างค่าไฟครั้งใหญ่ เพราะค่าไฟฟ้าที่ลดลงจะทำให้ประเทศสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้.-สำนักข่าวไทย