จ.นนทบุรี 5 มิ.ย. – กฟผ. ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ต้องเลื่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบอย่างน้อย 4 ปี ขณะที่โรงไฟฟ้าเทพาก็จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบล่าช้ากว่าแผน
ว่าที่พันตรีอนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า แม้ปัจจุบัน กฟผ. จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับวิ่งแวดล้อมมาใช้ในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ แต่การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะล่าช้าออกไปอย่างน้อย 4 ปี จากปี 2562 เป็นปี 2566 เพราะขณะนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างนำความเห็นของคณะกรรมการไตรภาคีมาดำเนินการปรับปรุงรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามคำสั่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา EIA คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ล่าช้ากว่ากำหนดเล็กน้อย และทำให้การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบต้องเลื่อนออกไปอีก 1 ปี เป็นปี 2565
อย่างไรก็ตาม กฟผ. ได้เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็น 2 พันเมกะวัตต์ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะติดตั้งแผงโซลาร์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. รวมถึงติดตั้งแผงโซลาร์บนพื้นดินในพื้นที่หน่วยงานของ กฟผ. จึงไม่เป็นการแย่งพื้นที่ภาคการเกษตรและภาคเอกชน โดยจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า เช่น การพัฒนาเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทกริด นำร่องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขนาด 4 เมกะวัตต์ และจับคู่แหล่งผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในรูปแบบไฮบริดในพื้นที่เดียวกัน
ส่วนเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ รวมถึงบริเวณสายส่งไฟฟ้า กฟผ. ยืนยันว่า โรงไฟฟ้าแต่ละแห่งมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดอยู่แล้ว แต่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้ประสานให้หน่วยงานด้านความมั่นคงเข้ามาช่วยตรวจสอบ พร้อมฝากให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นหูเป็นตาอีกทางหนึ่งด้วย – สำนักข่าวไทย