นนทบุรี 27 เม.ย.-ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจพบแรงงานมีหนี้สินครัวเรือนยังคงประคองตัวสูงสุดในรอบ 14 ปี เฉลี่ย 270,000 บาทต่อครัวเรือน แต่วันแรงงานปีนี้จะคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา คาดเงินสะพัดวันแรงงานปีนี้จะมีมูลค่าการใช้จ่ายสูงสุดที่สุดในรอบ 4 ปีอยู่ที่ 2,067.2 ล้านบาท เป็นผลจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นแต่แรงงานยังคงใช้ใจอย่างระมัดระวัง
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ สถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาททั่วประเทศ จำนวน 1,300 ตัวอย่าง” พบ แรงงานส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,001-15,000 บาท ประมาณ 86.2% โดยรายจ่ายเทียบเท่าเงินเดือนประมาณ 61.4% อีกทั้งยังพบว่ากว่า 73.5% แรงงานไม่มีเงินออม และ 84.1% ไม่มีอาชีพเสริม
ขณะที่ ภาระหนี้ของแรงงานไทยยังคงประคองตังสูงสูงถึง 91.1% โดยการกู้ยืมส่วนใหญ่ 14.5 % กู้มาเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมา เป็นเรื่องของหนี้บัตรเครดิต ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งทำให้ภาระหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันสูงถึงประมาณ 272,528.14 บาท ขยายตัว 25.05% โดยเมื่อแยกหนี้สินในระบบสูงถึง 79.84 % เฉลี่ยการผ่อนชำระ 7,936.55 บาทต่อเดือนหนี้นอกระบบอยู่ที่ 20.16 % เฉลี่ยการผ่อนชำระ 2,381.86 บาทต่อเดือน ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งขยายการเติบโตของจีดีพี เพื่อให้ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยไม่สูง จะเห็นได้จากกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้มีการปรับเปลี่ยนเข้ามาเป็นหนี้ในระบบมากขึ้น ทำให้หนี้นอกระบบอยู่ในระดับต่ำที่สุดของการสำรวจในรอบ 14 ปี โดยกลุ่มแรงงานเหล่านี้ยังมีความสามารถในการผ่อนชำระ จึงเชื่อว่าภาวะหนี้ครัวเรือนจึงอยู่ในระดับที่จัดการได้ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะค่อยๆคลี่คลายเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จึงไม่มีความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือน แต่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มี 41.5% เคยผิดชำระหนี้ เพราะหมุนเงินไม่ทัน ตกงาน รายได้ไม่พอรายจ่าย และมีค่าใช้จ่ายหลายทาง ซึ่งภาระหนี้ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการใช้จ่ายในปัจจุบันอยู่ในระดับเท่าเดิม 48.9 % และอีก 3 เดือนข้างหน้าการใช้จ่ายยังคงเท่าเดิม 51.5%
นอกจากนี้ ส่วนกิจกรรมวันแรงงานปีนี้ แรงงานวางแผนออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้นจากการผ่อนคลายการแพร่ระบาดโควิด 19 โดยจะไปซื้อของ ท่องเที่ยว ทำบุญ ทานอาหารนอกบ้านและพักผ่อนอยู่บ้าน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 2,528.75 บาท คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายในวันแรงงานปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2,067.2 ล้านบาท ขยายตัว 29.8% ขยายตัวสูงสุดสุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น แต่แรงงานยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และจากผลสำรวจด้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 450 บาท มีผู้ไม่เห็นด้วย 39.9% คิดว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันมีความเหมาะสมในระดับปานกลาง ซึ่งมีผู้เห็นด้วย 69.1% กรณีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาจส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบันและส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคต โดยจะต้องมีมาตรการในการดูแลหรือช่วยเหลือให้ค่าครองชีพเหมาะสม เพิ่มสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลัยมาขยายตัว นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศสร้างความเท่าเทียมกันของคนในสังคม สร้างงานให้คนในพื้นที่จะได้ไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่น และดูแลสินค้าให้สอดคล้องกับรายได้ของผู้มีรายได้น้อย.-สำนักข่าวไทย