กทม. 28 มิ.ย. – ก.คลัง เผยตัวเลขการจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบในช่วง 3 ปีเศษที่ผ่านมา มีการจับกุมไปแล้วเกือบ 5,500 คน ขณะที่ข้อมูลหนี้สินของครัวเรือนไทยจากสภาพัฒน์ พบว่ามียอดรวมกว่า 13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเกือบ 80%
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่ผ่านมาของกระทรวงการคลังว่า การจัดการกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย กระทรวงการคลังและสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ผลการจับกุมผู้กระทำความผิดสะสมนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 รวมทั้งสิ้น 5,479 คน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนใน 5 มิติ ได้แก่ (1) ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย (2) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ (3) ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย (4) เพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และ (5) สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน
ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359
หนี้ครัวเรือนของไทยแตะเกือบ 80% ของ GDP
สำหรับปัญหาหนี้สินของครัวเรือนไทย มีข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนจนถึงไตรมาส 4 ปี 2562 มียอดรวมกว่า 13 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.0% ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 79.8% สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เป็นต้นมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและเร็วกว่าการชะลอตัวของหนี้สินครัวเรือน
สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยพบว่า เป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคมากที่สุด 35.1% รองลงมาเป็นหนี้ที่อยู่อาศัยประมาณ 33.7% เพื่อธุรกิจและการลงทุน 18.4% และเพื่อยานยนต์ 12.8%
สำหรับรายจ่าย 5 อันดับแรกที่ทำให้เกิดการก่อหนี้ซ้ำ อันดับแรกเป็นเรื่องการผ่อนบ้านและรถ 24.7% ค่าเดินทาง 19.3% เสื้อผ้า 16% เหล้า/บุหรี่ 11.2% และค่าไฟฟ้า/ประปา 6.6%
ขณะที่มีการเปิดเผยผลสำรวจกลุ่มเป็นหนี้ที่มีทัศนคติว่า ยิ่งมีรายได้มากขึ้นและจะใช้จ่ายมากขึ้น จึงไม่มีเงินเหลือเก็บ พบว่าสาเหตุสำคัญมาจากการคลั่งไคล้ชอปปิง 39.8% เกือบคลั่งใกล้ชอปปิง 36.5% และไม่คลั่งไคล้ 23.7% กลุ่มที่มีทัศนคติมีเงินมากใช้มากและไม่มีเงินเหลือเก็บรวมทั้งคลั่งไคล้ชอปปิงเป็นกลุ่มอายุ 20-32 ปีมากที่สุด .- สำนักข่าวไทย