กรุงเทพฯ 2 มี.ค.-สภาพัฒน์ฯ นำเสนอภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 65 ระบุการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นโดยการว่างงานลดลงร้อยละ 1.15 ขณะที่ภาพรวมทั้งปีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.32 ขณะที่หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 3 เริ่มดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่สินเชื่อยังคงทรงตัว
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาส 4 ปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ส่วนการจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 โดยภาพรวมปี 2565 อัตรามีงานทำและชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อน โควิด-19 ซึ่งการจ้างงานตลอดทั้งปีมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวมและภาคเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 42.6 ชั่วโมง และ 46.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยมีผู้ว่างงานจำนวน4.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.32
สถานการณ์ด้านแรงงาน ปี 2565 ผู้มีงานทำมีจำนวน 39.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.0 ส่วนภาคเกษตรกรรมการจ้างงานหดตัวร้อยละ 1.2 จากผลกระทบของอุทกภัยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป คือ การจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกและโอกาสหางานของเด็กจบใหม่,ภาระค่าครองชีพจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูงและปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยวโดยสาขาโรงแรม ที่พัก ภัตตาคารและร้านค้า ยังมีความต้องการแรงงานอีกประมาณ 1 หมื่นตำแหน่งใน 60 จังหวัด หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3 ปี 2565 มีมูลค่า 14.90 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากร้อยละ 3.5 ของไตรมาสก่อน ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ที่ร้อยละ 86.8 ลดลง 88.1 จากไตรมาสที่ผ่านมา
เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังได้กล่าวถึง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แหล่งรายได้รัฐและเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ ว่าในปี 2564 รัฐบาลมีรายได้รวม 2.8 ล้านล้านบาท โดยรายได้จากภาษีคิดเป็นร้อยละ 88.5 ของรายได้ทั้งหมดอย่างไรก็ตามรัฐบาลมีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 4.1 หมื่นล้านบาทในงบประมาณปี 2546 เป็น6.5 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 และการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจาก 3 ล้านล้านบาทในปี 2566 เป็น 6.5 ล้านบาทในปี 2585
สำหรับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ในปี 2564 มีสัดส่วนร้อยละ 13.2 ของรายได้ภาษีทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 337,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.6 ต่อปีจากปี 2556 โดยมีผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งสิ้น 10.7 ล้านคนและเป็นผู้มีรายได้สุทธิที่ต้องเสียภาษีเพียง 4.2 บ้านคนเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย