กรุงเทพฯ 23 มี.ค.-ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดมุมมองทิศทางเศรษฐกิจ คงประมาณการจีดีพีปี 2566 ที่ 3.7% ขณะเดียวกันมีการปรับลดตัวเลขส่งออกลงจากเดิมที่ -0.5% มาที่ -1.2% ด้านการท่องเที่ยวขยับตัวดีขึ้น คาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 28.5 ล้านคน พร้อมระบุวิกฤตธนาคารชาติตะวันตกจะส่งผลกระทบต่อไทยในวงจำกัด
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยในงานเสวนา ทิศทางเศรษฐกิจไทย..ฝ่าวิกฤตธนาคารโลก ว่า วิกฤตธนาคารขนาดกลางและเล็กของสหรัฐคงจะยืดเยื้อ แต่เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางชาติอื่นๆจะเข้ามาดูแลสภาพคล่องของระบบอย่างรวดเร็ว น่าจะช่วยยับยั้งสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกได้
สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น มองว่า จะอยู่ในกรอบจำกัดเพราะธนาคารไทยมีโครงสร้างงบดุลที่กระจายตัวดีกว่า อาทิ มีพอร์ตสินเชื่อที่ใหญ่กว่าเงินลงทุน พอร์ตสินเชื่อมีการกระจายตัวตามกลุ่มลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอี และลูกค้ารายใหญ่ รวมถึงมีเงินฝากที่ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูงหรือลูกค้าธุรกิจองค์กรเหมือนธนาคารสหรัฐที่ประสบปัญหา นอกจากนี้ธนาคารไทยยังมีสภาพคล่องและเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงแข่งขันได้ในระดับสากลภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัญหาภาคธนาคารจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวมากกว่าเดิมและมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งภาพความกังวลข้างต้นสะท้อนผ่านโมเมนตัมการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21-22 มีนาคม ที่ผ่อนคันเร่งลงด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากช่วงก่อนเกิดปัญหาภาคธนาคารสหรัฐที่ตลาดมองว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.50% ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยทยอยปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาพลังงานที่ลดลงตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ลงมาที่ 2.8% จากเดิมที่ 3.2%
อย่างไรก็ตาม ไทยมีปัจจัยบวกที่ช่วยต้านผลกระทบข้างต้น คือ ภาคการท่องเที่ยวที่น่าจะเห็นนักท่องเที่ยวทั้งปี 2566 ที่อาจสูงกว่าที่คาดไว้แต่เดิมที่ 25.5 ล้านคน มาอยู่ที่ 28.5 ล้านคน โดยจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซียและลาว รวมทั้งนักท่องเที่ยวยุโรป รัสเซีย และอินเดียเป็นต้น ซึ่งเมื่อเห็นภาพรวมดังนี้แล้ว จึงคาดการณ์จีดีพีสำหรับทั้งปี 2566 เอาไว้ที่ 3.7% ขณะเดียวกันมีการปรับลดตัวเลขส่งออกลงจากเดิมที่ -0.5% มาที่ -1.2%
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทนั้น เช้าวันนี้เปิดที่ระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากเมื่อวานที่ปิดที่ 34.44 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทช่วงปลายปีจะอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวผันผวนค่อนข้างมากต่อเนื่องไปในไตรมาสที่สอง ท่ามกลางสถานการณ์ต่างประเทศที่ยังไม่นิ่งเพียงแต่จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฟดที่ชะลอความแรงลงทำให้เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะปรับขึ้นได้อีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 29 มีนาคมนี้.-สำนักข่าวไทย