กรมชลประทาน 26 พ.ค.-กรมชลประทานเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เร่งระบายน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย
และพิษณุโลก ลงสู่แม่น้ำยมและน่าน ย้ำหลายพื้นที่น้ำลดลงแล้ว
มั่นใจสัปดาห์หน้าเข้าสู่ภาวะปกติ
สั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก และเครื่องมือ เครื่องจักร
เครื่องสูบน้ำ รับมือฝนตกหนักพื้นที่ภาคกลาง 24-29 พฤษภาคมนี้
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน
เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 24-29 พฤษภาคม 2560
จะยังคงมีฝนตกหนัก กรมชลประทานยังได้สั่งการให้เฝ้าระวังน้ำหลาก โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร
สุโขทัย พิษณุโลก เป็นพิเศษ รวมทั้งบริเวณพื้นที่อำเภอจอมทอง
อำภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ที่อาจมีน้ำป่าไหลหลากด้วย นอกจากนี้ยังได้เตรียมพร้อมเครื่องมือ
เครื่องจักรหนัก รถขุด เครื่องสูบน้ำ
เพื่อเข้าสนับสนุนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดน้ำท่วม
เฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ลุ่มในเขตจังหวัดลพบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลก
โดยเฉพาะที่ที่อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ยังมีมวลน้ำจากที่อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชรที่อยู่ทางด้านบนและมีความลาดชันสูง
ไหลลงมาสบทบขณะนี้กรมชลประทานได้เร่งการระบายโดยใช้เครื่องสูบน้ำและขยายทางน้ำแล้ว
สำหรับการแก้ไขปัญหาในช่วงเร่งด่วนนั้น กรมชลประทานได้ ตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ
หากพบก็จะแก้ไขทันที เพื่อให้ระบายน้ำที่จากอำเภอพรานกระต่าย ถึงอำเภอคีรีมาศ
ลงสู่แม่น้ำยมให้เร็วขึ้น พร้อมทั้งได้ควบคุมการระบายน้ำที่ ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์
ให้ไม่เกิน 40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ควบคุมการระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำยางซ้าย ให้ไม่เกิน 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
เพื่อเร่งระบายน้ำจากคลองสารบบและคลองสามพวงผ่านประตุระบายน้ำกม. 22 + 300 นอกจากนี้ยังได้เร่งระบายน้ำด้านท้าย
ปตร.วังสะตือ โดยขณะนี้ที่ อำเภอพรานกระต่าย น้ำได้ลดลงแล้ว
เพียงแต่ยังคงมีน้ำท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำแถว อำเภอคีรีมาศ แต่ระดับน้ำลดลงทุกวัน
ส่วนอีกแห่งที่ประสบปัญหาน้ำท่วมคือ
ที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
กรมชลประทานทำการระบายน้ำออกทางแม่น้ำน่านให้มากขึ้น เนื่องจากในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา
ชาวบ้านไปทำฝายชั่วคราวกั้นลำน้ำเพื่อกักน้ำไว้ใช้จำนวนหลายแห่ง
เมื่อน้ำไหลลงมามากจึงระบายไม่ทัน
ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานร่วมกับทางจังหวัด ฝ่ายความมั่นคง
และองค์การปกครองท้องถิ่นรื้อฝายที่ขวางทางน้ำออก อย่างไรก็ตามบางพื้นที่ฝายดังกล่าว
อบต. เป็นผู้สร้าง จึงต้องทำเรื่องขอให้รื้อถอนออก
เมื่อรื้อฝายออกแล้วทำให้การระบายน้ำทำได้มากขึ้นไปเป็นเท่าตัว ขณะที่การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่าน
บริเวณสุโขทัยนั้น จะใช้คลองระบาย 2 สายของกรมชลประทาน สามารถระบายได้ 110 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทำให้ระดับน้ำลดลงแล้วเช่นกัน
แต่ถ้าหากการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 3 – 4
วันแล้วเสร็จก็ทำให้ระบายน้ำมากขึ้น สถานการณ์จะคลี่คลายลงได้
คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า สถานการณ์น้ำท่วมขังจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ-สำนักข่าวไทย