กรุงเทพฯ 18 มี.ค. – นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ชี้วิกฤติธนาคารสหรัฐต่างจากไทย คาดครึ่งหลังปีนี้มีโอกาสกระแสเงินทุนไหลกลับเข้าไทย หลังนักลงทุนยังกังวลเศรษฐกิจสหรัฐ
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Thailand Well-being Economy ถึงกรณีวิกฤติธนาคารที่เกิดขึ้นในสหรัฐและยุโรป ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ว่า สาเหตุสำคัญมาจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ขึ้นมาถึง 4.5% ภายใน 1 ปี ถือว่ารวดเร็วที่สุดตั้งแต่เคยมีมา เพื่อพยายามลดอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นเริ่มมีให้เห็นในระบบเศรษฐกิจแล้ว
อย่างไรก็ตาม กรณีของซิลิคอนวัลเลย์แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์แบงก์ ที่ต้องปิดกิจการ ถือว่าเป็นเพียงการบริหารพอร์ตการลงทุนที่ผิดพลาด ที่นำเงินลงทุนระยะสั้นไปลงทุนระยะยาว แต่ยังไม่ส่งผลกระทบมากเท่ากับเหตุการณ์วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ช่วงปี 2008 ที่เป็นวิกฤติการเงินของสหรัฐที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่ยังต้องติดตามต่อเนื่องว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในต่างประเทศอีกบ้างในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับไทยที่เศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวเร็วเหมือนสหรัฐ โดยปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นดอกเบี้ยไป 1% นอกจากนี้ยังมีการดูแลธนาคารในไทยทั้ง 10 กว่าแห่งอย่างใกล้ชิด ขณะที่สหรัฐมีธนาคารมากว่า 5,000 แห่ง ทางการจึงไม่สามารถดูแลได้ครบทั้งหมด แต่จะมุ่งไปธนาคารขนาดใหญ่
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมองว่าจะกระทบตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น และจะสามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้จากท่องเที่ยว ช่วยส่งให้ภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัว และน่าจะเป็นผลดีให้กระแสเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในไทย เพราะยังคงกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ และมองว่าตลาดหุ้นไทยเป็นหลุมหลบภัย โดยคาดว่าจะเห็นกระแสเงินทุนไหลกลับเข้ามาในช่วงครึ่งหลังปีนี้.-สำนักข่าวไทย