กรุงเทพฯ 5 มี.ค. – กฟผ.จับมือ 5 บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น ร่วมมือศึกษาและพัฒนา ‘ไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดครบวงจร-ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ-พัฒนา BESS ด้าน Hydrogen Thailand Club’ ส่งเสริมความรู้ปูพื้นฐานเชื้อเพลิงอนาคต
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายนิชิมุระ ยาสึโทชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับ บริษัท มิตซุย โอ.เอส.เค ไลน์ส จำกัด บริษัท ชิโยดะ คอร์ปอเรชั่น บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อศึกษาและพัฒนาโครงการไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดครบวงจร รวมถึง MOU เพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ กับ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) และ MOU เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) กับ บริษัท IHI Corporation ในการประชุม 1st Asia Zero Emission Community Ministerial Meeting ซึ่งจัดขึ้นโดยรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2566 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ.ให้ความสำคัญกับเทรนด์พลังงานโลกที่เปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาด จึงได้แสวงหาเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่สำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยไฮโดรเจน และแอมโมเนีย เป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคตที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างเผาไหม้ ขณะที่เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ BESS เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ความร่วมมือใน MOU ทั้ง 3 ฉบับ จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำในระดับสากล นำไปสู่การขับเคลื่อนเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ การนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี และความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศโลกในอนาคต นับเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย
ทั้งนี้ กฟผ. ตั้งเป้าหมายสนองตอบนโยบายภาครัฐในการร่วมนำประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 โดยขับเคลื่อนภายใต้กลยุทธ์ ‘Triple S’ ได้แก่ 1) Sources Transformation เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงโรงไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ รองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และนำ BESS มาใช้งาน 2) Sink Co-creation เพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน เดินหน้าโครงการปลูกป่าล้านไร่ รวมถึงศึกษาการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการกักเก็บคาร์บอน และ 3) Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชน ผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เป็นต้น
ส่วนในประเทศไทย นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และประธาน Hydrogen Thailand Club เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่ม Hydrogen Thailand Club ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานสัมมนา “Hydrogen Symposium 2023” ภายใต้แนวคิด Gearing towards Carbon Neutrality with Hydrogen Society เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีไฮโดรเจน ซึ่งจะเป็นการรองรับเชื้อเพลิงอนาคต
ทั้งนี้ Hydrogen Thailand Club เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การกักเก็บ การใช้ประโยชน์ และนโยบายด้านไฮโดรเจน เพื่อผลักดันเตรียมความพร้อมในการใช้พลังงานจากไฮโดรเจนและเซลล์เชื้อเพลิง ก่อตั้งโดย PTT Plc., Bangkok Industrial Gas Co., Ltd, Toyota Motor Thailand Co., Ltd., Toyota Daihatsu Engineering & Manufacturing Co., Ltd., Mitsui & Co., (Thailand) Ltd., Electricity Generating of Thailand (EGAT), Department of Alternative Energy Development and Efficiency, Ministry of Energy, National Energy Technology Center (ENTEC), National Science and Technology Development Agency ในปัจจุบันมีองค์กรต่างๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมกลุ่มเป็นจำนวนมาก เพื่อร่วมขับเคลื่อนเป็นพลังงานทางเลือกใหม่แห่งอนาคต ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำในประเทศไทย. – สำนักข่าวไทย