นักเศรษฐศาสตร์เผยฝุ่น PM2.5 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ

กรุงเทพฯ 22 ก.พ. – นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เผยผลวิจัยเกี่ยวกับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 สูงถึง 2.173 ล้านล้านบาท แนะให้ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาคำนวณต้นทุนของสังคมไทยเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย งบประมาณ และแนวทางแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม


สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์นำเสนอผลงานวิจัยของ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช รองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หัวข้อ ต้นทุนของสังคมไทยจากมลพิษทางอากาศและมาตรการรับมือ “ฝุ่นจิ๋ว…กับผลกระทบที่ไม่จิ๋ว…ต่อครัวเรือนไทย!” ซึ่งได้ประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากมลพิษทางอากาศต่อสังคมไทย โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจและความสุขในชีวิตของชาวไทยและรายได้ครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แบบสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานและข้อมูลประชากรของกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนข้อมูลคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ งานวิจัยทำการประมาณมูลค่าความเต็มใจจ่ายเพื่อลดมลพิษทางอากาศด้วยวิธี subjective well-being ตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อว่าความพึงพอใจในชีวิตของมนุษย์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระดับรายได้ สถานะทางสุขภาพ สภาพสังคม และคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยสมมติว่าครัวเรือนจะได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพหากระดับความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศในจังหวัดที่อาศัยอยู่สูงกว่าค่าแนะนำรายปีขององค์การอนามัยโลก

ผลการศึกษาพบว่า ในปี 2562 ฝุ่น PM2.5 สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ต่อครัวเรือนไทย 2.173 ล้านล้านบาท และหากรวมทุกสารมลพิษ (PM10, PM2.5, CO, NOx, NO2) มูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนไทยจะสูงถึง 4.616 ล้านล้านบาท


หากพิจารณารายจังหวัดจะพบว่า ครัวเรือนทุกจังหวัดของไทย (ยกเว้นภูเก็ต) ต่างก็ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศกันถ้วนหน้า โดย 5 จังหวัดแรกที่มีมูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนสูงสุดได้แก่ กรุงเทพฯ (ซึ่งมีมูลค่าความเสียหาย 436,330 ล้านบาทต่อปีสำหรับ PM2.5 และ 927,362 ล้านบาทต่อปีเมื่อพิจารณาทุกสารมลพิษ) รองลงมาได้แก่ ชลบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ และขอนแก่น ตามลำดับ

นอกจากนี้ หากปรับใช้ค่าแนะนำใหม่ขององค์การอนามัยโลกซึ่งพบว่า PM2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เพิ่มขึ้นจากในอดีตมาก มูลค่าความเสียหายจะสูงขึ้นจากที่รายงานไว้ข้างต้น โดย WHO ได้ยกระดับการเตือนภัยในปี 2564 ที่ผ่านมาด้วยการปรับค่าแนะนำใหม่เป็น 5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปี กล่าวคือ เมื่อ PM2.5 ค่าสูงเกินกว่าค่าแนะนำ จะเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ เช่น โรคมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งไต หลอดเลือดในสมองอุดตัน หัวใจล้มเหลว สมองเสื่อม ภูมิแพ้ และหอบหืด เป็นต้น

ดร.วิษณุกล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 รุนแรงขึ้นเกิดจาก ที่ผ่านมาไทยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจมากและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมน้อย ซึ่งสังเกตได้จากงบประมาณแผ่นดินที่ตั้งไว้สำหรับการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ตั้งไว้เพียง 8,361-12,868 ล้านบาทต่อปีในช่วง 2560-2566 หรือคิดเป็น 0.270-0.491% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด โดยในปี 2566 ล่าสุด ตั้งงบประมาณไว้เพียง 0.33% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดซึ่งนับว่าน้อยกว่ามาเลเซียถึง 2 เท่า และสหภาพยุโรปถึง 5 เท่า อีกหนึ่งตัวอย่างได้แก่ การเก็บภาษีรถเก่าในอัตราที่ต่ำกว่ารถใหม่ทำให้มลพิษเพิ่มขึ้นเนื่องจากรถเก่าปลดปล่อยมลพิษที่มากกว่ารถใหม่


นอกจากนี้ไทยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยมาก กล่าวคือ มาตรการส่วนใหญ่ที่ใช้แก้ไขปัญหามักมีลักษณะบังคับให้ปฏิบัติตาม อาทิ มาตรการห้ามเผาในที่โล่งแจ้ง การใช้มาตรฐานไอเสียและน้ำมัน เป็นต้น โดยมาตรการบังคับเหล่านี้ทำให้เอกชนไม่มีแรงจูงใจในการปรับตัวเพื่อปรับปรุงวิธีการผลิตให้ดีขึ้น อีกทั้งไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและขาดกฎหมายที่บูรณาการการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ กล่าวคือ ที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลคือกรมควบคุมมลพิษไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการกับปัญหาเพราะมักจะเกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่น ๆ ด้วย นอกเหนือไปจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่กระจัดกระจายไปตามหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ หากมีการลักลอบปล่อยมลพิษในโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษจะไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการดำเนินการเชิงปฏิบัติ เพราะขึ้นอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น

พร้อมกันนี้ได้แนะนำให้ผู้กำหนดนโยบายควรเร่งดำเนินการดังนี้

  • ควรสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของมลพิษทางอากาศให้ทุกคนได้รับทราบอย่างทั่วถึงทั้งเกษตรกร ผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน งานวิจัยในต่างประเทศพบว่าเป็นวิธีที่ต้นทุนต่ำสุด แต่สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่สูงมาก
  • ควรเพิ่มจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศให้มากขึ้นในทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภัยจากมลพิษและเชื่อมโยงแอปพลิเคชันเพื่อส่งข้อมูลเตือนภัยคุณภาพอากาศแบบ real-time ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
  • พิจารณาปรับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศของไทยให้เข้มงวดมากขึ้นจากปัจจุบันที่เข้มงวดน้อยกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกกว่า 3 เท่า
  • ควรเร่งแก้ปัญหาตามแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศ ซึ่งหลัก ๆ ประกอบด้วย 1) การเผาไหม้เชื้อเพลิงในภาคยานยนต์และการขนส่ง 2) การเผาในที่โล่งแจ้งภาคเกษตรและป่าไม้ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน และ 3) การเผาไหม้เชื้อเพลิงและกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยต้องเข้าใจว่ามลพิษทางอากาศในแต่ละแหล่งกำเนิดมีช่วงเวลาการปล่อยและสาเหตุที่แตกต่างกัน และมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นชั่วคราวและแก้ไขกันเฉพาะหน้าในระยะสั้นแต่ละปีเท่านั้น
  • ควรประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการต่าง ๆ เนื่องจากแม้จะมีแผนหรือมาตรการที่ดี แต่การปฏิบัติจริงมักไม่สัมฤทธิ์ผล ดังนั้น ควรสร้างตัวชี้วัดเพื่อประเมินความสำเร็จของมาตรการข้างต้น พร้อมระบุบุคคลและหน่วยงานผู้รับผิดชอบตั้งแต่หน่วยงานส่วนกลางลงไปถึงหน่วยงานท้องถิ่นระดับพื้นที่.-สำนักข่าวไทย

 

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

Satellite images show wake of destruction of wildfires burning across California

เปิดปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าแอลเอไหม้ลามหนัก

มีหลายปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าในเทศมณฑลลอสแอนเจลิสหรือแอลเอ (LA) ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐไหม้ลามเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นวิกฤตไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ

รู้ตัวคนไทยพลัดตกตึกสูงฝั่งปอยเปต พบไม่ได้ถูกจับโยนลงมา

รู้ตัวคนไทยพลัดตกตึกสูง 18 ชั้น ฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชา เบื้องต้นพบไม่ได้ถูกจับโยนลงมา และอาคารดังกล่าวถูกระบุเป็นฐานบัญชาการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีคนไทยถูกหลอกไปทำงานที่นี่จำนวนมาก

Palisades Fire

สหรัฐสั่งอพยพกว่าแสนคนหนีไฟป่า 6 จุดในแคลิฟอร์เนีย

ลอสแอนเจลิส 9 ม.ค.- สหรัฐสั่งอพยพประชาชนมากกว่า 100,000 คน เนื่องจากจำนวนไฟป่าที่โหมไหม้ในเทศมณฑลลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 6 จุดแล้ว เพราะกระแสลมแรงเทียบเท่าเฮอริเคนและสภาพอากาศแล้ง เจ้าหน้าที่เผยว่า ในจำนวนไฟป่าทั้ง 6 จุด มีอยู่ 4 จุดที่ยังไม่สามารถควบคุมได้เลย ไฟป่าจุดแรก คือ พาลิเซดส์ไฟร์ (Palisades Fire) เกิดขึ้นช่วงเช้าวันที่ 7 มกราคมตามเวลาท้องถิ่นใกล้แปซิฟิก พาลิเซดส์ ซึ่งเป็นย่านที่พักอาศัยทางตะวันตกเฉียงเหนือของเทศมณฑล ต้นเพลิงมาจากไฟไหม้พุ่มไม้ที่โหมไหม้จนเกินควบคุมเพราะกระแสลมแรง ต้องอพยพคนอย่างน้อย 30,000 คน ไฟป่าจุดที่ 2 คือ อีตันไฟร์ (Eton Fire) เกิดขึ้นในเย็นวันเดียวกันที่หุบเขาอีตันแคนยอน เผาไหม้พื้นที่ขยายวงกว้างมากพอ ๆ กับไฟป่าจุดแรก ไฟป่าจุดที่ 3 คือ เฮิร์ตส์ไฟร์ (Hurst Fire) เกิดขึ้นกลางดึกวันเดียวกันในย่านซิลมาร์ของนครลอสแอนเจลิส จากนั้นในเช้าวันที่ 8 มกราคมเกิดไฟป่าจุดที่ 4 คือ วูดลีไฟร์ […]

ข่าวแนะนำ

ยอดภูเรือหนาวแตะ 0 องศาฯ นักท่องเที่ยวแน่น

ยอดภูเรือ จ.เลย อุณหภูมิลดฮวบเหลือ 0 องศาฯ เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาสัมผัสอากาศหนาว ชมพระอาทิตย์ขึ้น และดอกนางพญาเสือโคร่งที่เริ่มบานให้ได้ชม

ดับไฟป่า​ “เขาลอย” หมดแล้ว​ เฝ้าระวัง​ต่อเนื่อง​อีก​ 2 วัน

กรมป่าไม้ ​ยังคง​เฝ้า​ระวัง​การปะทุของไฟที่ป่าสงวน​แห่งชาติ​ “เขาลอย” หลังจาก​เย็น​วานนี้ระดมดับไฟทั้งทางอากาศ​และ​ภาคพื้น​ได้​ทุกจุด​ จนท.พบปลอกกระสุนปืนบริเวณที่เกิดไฟไหม้ รวมทั้งกับดักสัตว์ป่า คาดเผาเพื่อต้อนสัตว์ป่าสำหรับล่า

“แพทองธาร” ถึงนครพนม นำทัพ “เพื่อไทย” หาเสียงนายก อบจ.

“แพทองธาร” ถึงนครพนม นำทัพ “เพื่อไทย” หาเสียง นายก อบจ. ด้านมวลชนเสื้อแดงแห่ต้อนรับ ตะโกนลั่นสนามบิน “เรารักนายกฯ อิ๊งค์”

เย็นลงอีก “เหนือ-อีสาน” อุณหภูมิลด 1-3 องศาฯ

กรมอุตุฯ ประกาศ ภาคเหนือ อีสาน อุณหภูมิลดอีก 1-3 องศาฯ ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตะวันออก อุณหภูมิลดลง 1-2 องศาฯ ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณตอนล่างของภาค