ทำเนียบฯ 21 ก.พ. -ครม.ไฟเขียวปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 66 เพิ่ม 81,242 ล้านบาท หลังกองทุนน้ำมันกู้เงินเพิ่ม อุดหนุนราคาช่วงน้ำมันแพง หนี้สาธารณะยังอยู่ร้อยละ 61.14 อยู่ในกรอบกฎหมายทุกด้าน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 1) อนุมัติแผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่ม 81,242.89 ล้านบาท จากเดิม1.052 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 1.134 ล้าน ล้านบาท ประกอบด้วย การก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นของ สำนักงานกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง กู้เงินเสริมสภาพคล่อง จาก 30,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 110,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 80,000 ล้านบาท
รวมทั้งการก่อหนี้ใหม่เพิ่มของรัฐวิสหากิจ 1,242.89 ล้านบาท แยกเป็นส่วนที่ก่อหนี้เพิ่ม การยาสูบแห่งประเทศไทยเพิ่ม 1,500 ล้านบาท บริษัท การผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด เพิ่ม 1,194 ล้านบาท การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เพิ่ม300 ล้านบาท องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เพิ่ม 250 ล้านบาท และส่วนที่การปรับลดวงเงินกู้ลงของ กฟน. ลดลง 1,500 ล้านบาท และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ลดลง 501.11 ล้านบาท
2. ครม.ได้อนุมัติแผนการชำระหนี้ ปรับเพิ่ม 825.31 ล้านบาท จากเดิม 360,179.68 ล้านบาท เพิ่มเป็น 361,004 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 825 ล้านบาท จากการเพิ่มวงเงินชำระหนี้ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
3. การบรรจุโครงการเพิ่มเติม ในการปรับปรุงแผนฯลงทุน 19 โครงการ ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ 10 โครงการ ได้แก่ โครงการของ กฟน. 3 โครงการ วงเงิน 2,200 ล้านบาท โครงการของบริษัทผลิตไฟฟ้าและนำเย็นจำกัด 5 โครงการ วงเงิน 1,194 ล้านบาท โครงการของ ยสท. 1 โครงการ วงเงิน 1,500 ล้านบาท และโครงการของอ.ส.ค. 1 โครงการ วงเงิน 250 ล้านบาท, แผนการบริหารหนี้เดิม 8 โครงการ โดยเป็นโครงการบริหารหนี้ของรัฐบาลจำนวน 7 รายการภายใต้กรอบวงเงิน 240,000 ล้านบาท และโครงการของเอ็กซิมแบงก์ 1 โครงการ วงเงิน2,300 ล้านบาท, และ แผนการชำระหนี้ 1 โครงการ ของ กยท. วงเงิน 825.31 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ครม. ยังรับทราบ การปรับปรุงแผนฯ ในส่วนของการบริหารหนี้เดิม ปรับลดลง6,282 ล้านบาท จากเดิม 1.735 ล้านล้านบาท ลดเหลือ 1.729 ล้านล้านบาท ลดลง 19,781 ล้านบาท ประกอบด้วย ธ.ก.ส. ปรับลดวงเงินกู้โครงการจำนำผลผลิตทางการเกษตรปีการผลิต 2551/52, ปีการผลิต 2555/56 และ ปีการผลิต 2556/57 เนื่องจากชำระคืนก่อนครบกำหนดแล้ว ลดลง 22,171 ล้านบาท ส่วน กฟน. ปรับวงเงินเพิ่ม 2,300 ล้านบาท
ส่วนแผนบริหารหนี้เดิมของรัฐบาลนั้นเพิ่มขึ้น 13,588.49 ล้านบาท ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลครบกำหนดในปี 2567-70 เพิ่มขึ้น 15,000 ล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปี 66 มีการปรับลดในส่วนเงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้มาให้ รฟท. กู้ต่อ ลดลง 1,411 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ภายหลังการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ร้อยละ 61.14 จากกรอบตามกฎหมายไม่เกินร้อยละ 70, สัดส่วนหนี้ของรัฐบาลต่อ รายได้ ร้อยละ 32.92 จากกรอบตามกฎหมายไม่เกินร้อยละ 35, สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 1.66 จากกรอบตามกฎหมายไม่เกินร้อยละ 10 และสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออก ร้อยละ 0.06 จากกรอบตามกฎหมายไม่เกินร้อยละ 5 นับว่าอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนดทุกด้าน.-สำนักข่าวไทย