กรุงเทพฯ 15 ก.พ.-สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์แนวโน้มและทิศทางการส่งออกข้าวไทยในปีนี้จะส่งออกข้าวได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ไม่ต่ำกว่า 7.5 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่าผลผลิตข้าวจะดี ขณะเดียวกัน ต้องติดตามนโยบายประชานิยมที่อาจจะมากระทบต่ออุตสาหกรรมข้าวไทย
ร้อยตำรวจโท เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทิศทางการส่งออกข้าวไทยเริ่มกลับมาเป็นปกติจากช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิดแล้ว จากปี 2563 ไทยส่งออกข้าวได้เพียง 5.7 ล้านตัน ปี 2564 ที่ 6.2 ล้านตัน และเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ ในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวได้กว่า 7.6 ล้านตัน มูลค่ากว่า 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผู้ส่งออกข้าว อันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย ที่ส่งออกได้กว่า 22 ล้านตัน อันดับ 3 เวียดนาม กว่า 7.1 ล้านตัน และในปีนี้ผลผลิตข้าวน่าจะดี เนื่องจากปริมาณทั้งน้ำฝนและน้ำในเขื่อนมีมาก จึงได้ตั้งเป้าการส่งออกข้าวไทยที่ 7.5 ล้านตัน
ส่วนนโยบายที่รัฐบาลใหม่ควรผลักดัน คือ การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่ตลาดต้องการ เพราะที่ผ่านมา ไทยยังขายข้าวชนิดเดิมมากว่า 30 ปีแล้ว เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน เพราะแต่ละปีไทยผลิตข้าวได้ถึงปีละ 20 ล้านตันข้าวสาร ใช้ในประเทศไม่เกิน 12 ล้านตัน ทำให้ปริมาณข้าวในประเทศแต่ละปีจะเหลือถึง 8 ล้านตัน ที่จะต้องส่งออก หากไม่สามารถระบายได้ ก็จะกลายเป็นสตอกเหลือค้าง ยิ่งทำให้ข้าวราคาตก แต่ถือว่ารัฐบาลปัจจุบันก็มีนโยบายในระยะยาวเข้ามาดำเนินการ
ทั้งนี้ นโยบายประชานิยมที่แต่ละรัฐบาลเลือกมาใช้ ทั้งจำนำข้าว ประกันรายได้เกษตรกร จะต้องใช้งบประมาณมาช่วยชาวนาเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปัจจุบันใช้อยู่ประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากรวมในช่วง 10 ปี จะสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ที่หากนำมาใช้ในการพัฒนาพันธุ์ข้าว พัฒนาโรงงานผลิตปุ๋ย ระบบน้ำชลประทาน จะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวของไทยและประชาชน โดยเฉพาะชาวนาจะได้รับประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่ ที่สำคัญที่สุดคือ นโยบายจะต้องไม่บิดเบือนตลาด ขณะเดียวกัน จะต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน เพราะการปรับขึ้นลงมีผลต่อการค้าขาย ซึ่งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเข้ามาดูแล โดยไม่จำเป็นจะต้องอ่อนค่าหรือแข็งค่า แต่ไม่ควรที่จะผันผวนเร็วเกินไป
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า นโยบายที่ดำเนินการแล้วบิดเบือนกลไกตลาด จะเกิดปัญหาต่อภาคการส่งออกข้าวแน่นอน ส่วนการช่วยเหลือชาวนารูปแบบอื่น มองว่ายังสามารถดำเนินการได้ หรือแม้แต่การจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้เกษตรกร ก็ยังพอรับได้ เพราะราคาซื้อขายข้าวยังเป็นไปตามกลไกตลาด แต่การรับจำนำข้าว ถือว่าบิดเบือนตลาดชัดเจน เห็นได้ชัดเจนในช่วงปีที่มีการเปิดรับจำนำข้าว การส่งออกข้าวไทยลดลงทันที จาก 10 ล้านต้น เหลือเพียง 5 ล้านตัน เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย