กรุงเทพฯ 9 ก.พ.- อีอีซี เปิดรับฟังความคิดเห็นนักลงทุนในโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ
นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นประธานเปิด การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุน (Market Sounding) สำหรับโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ครั้งที่ 1 เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนไทย ที่มีความสนใจต่อข้อมูลรายละเอียดของโครงการฯ โดยได้รับความสนใจจากภาคเอกชนชั้นนำ ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และมีความสนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการ ฯ อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในเครือ BDMS สนใจในด้านการลงทุนธุรกิจการแพทย์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) สนใจในด้านเทคโนโลยีการเชื่อมโยงระบบอินเตอร์เน็ต (IOT) ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและ MUFG ได้ให้ความสนใจในธุรกิจด้านเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ในพื้นที่โครงการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) สนใจในด้านการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือNT พร้อมจะสนับสนุนการลงทุนด้านโครงข่ายโทรคมนาคมในพื้นที่โครงการ เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ได้รับความเห็นชอบจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ถือเป็นหนึ่งในโครงการเมกะโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาคมาตรฐานเทียบเท่าสากลในพื้นที่อีอีซี และตั้งเป้าหมายเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 ของโลก และเป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่อัจฉริยะสำหรับการพัฒนาเมืองใหม่ทั่วประเทศ ซึ่งอีอีซี มั่นใจว่า โครงการฯ ดังกล่าวจะเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค พัฒนาให้เป็นเมืองธุรกิจควบคู่กรุงเทพฯ และคาดว่าจะเกิดการสร้างงานทางตรงได้ไม่น้อยกว่า 2 แสนตำแหน่ง มูลค่าจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท
โดยโครงการ ฯ ได้จัดทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแบ่งโซนตามกลุ่มธุรกิจหลัก แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ศูนย์สำนักงานใหญ่ภูมิภาคและศูนย์ราชการ 2. ศูนย์กลางการเงิน EEC 3. ศูนย์การแพทย์แม่นยำ 4. ศูนย์การศึกษา วิจัย-พัฒนา ระดับนานาชาติ และ 5. ศูนย์ธุรกิจอนาคต
อีกทั้งยังมีการพัฒนาพื้นที่ที่อยู่อาศัยชั้นดีสำหรับคนทุกกลุ่มรายได้ นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุน อาทิ ระบบไฟฟ้าและพลังาน ระบบบริหารจัดการน้ำ ระบบจัดการของเสีย ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบดิจิทัล และระบบอุโมงค์สาธารณูปโภค รวมทั้งมีการออกแบบวางผังระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะต่างๆ ครบตามเกณฑ์ชี้วัดการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะทั้ง 7 องค์ประกอบ ได้แก่ Smart Environment, Smart Energy, Smart Mobility, Smart Living, Smart People, Smart Economy, Smart Governance ส่งผลให้มีระบบนิเวศที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวก เอื้อต่อการดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย.-สำนักข่าวไทย