นนทบุรี 5 พ.ค.-กระทรวงพาณิชย์เดินหน้ายกระดับเศรษฐกิจชุมชนทั้งระบบ
ร่วมมือ 10 พันธมิตร
ใช้อี-คอมเมิร์ซ์ต่อยอดธุรกิจแบบครบวงจร
เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ผ่านธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
โดยให้ร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบทั่วประเทศ 114 ร้านในพื้นที่ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) ของกระทรวงพาณิชย์ว่า
กระทรวงฯ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนา โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลภาคประชาชนผ่านโครงการความร่วมมือการส่งเสริมเศรษฐกิจผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่นสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก
เพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์
ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผู้ประกอบการรายใหม่ (Start-up) ตลอดจน
เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในแต่ละท้องถิ่นมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำธุรกิจ
และส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ
ที่มีการใช้การตลาดดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการทำ “ร้านค้าออนไลน์” แบบครบวงจร
รวมถึงส่งเสริมการใช้อี-คอมเมิร์ซในการประกอบอาชีพและการตลาดผ่านตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงพาณิชย์
หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนอื่นๆ
สำหรับแนวทางการส่งเสริมและพัฒนา
จะนำโมเดลการพัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกเป็นต้นแบบมาใช้
เนื่องจากโมเดลดังกล่าวเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสินค้าในสต๊อค
ที่สามารถลดต้นทุน ลดเวลา และสินค้าคงเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมถึงสามารถขยายโอกาสทางการตลาดด้วยระบบการค้าออนไลน์แบบครบวงจร ทั้งนี้
ได้ขอความร่วมมือร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบในพื้นที่ทั่วประเทศจำนวน 114 ร้านค้า
และร้านค้าเครือข่ายอีกกว่า 5,000 แห่ง เป็นจุดช่วยกระจายสินค้า
และเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจในชุมชน เพื่อให้ธุรกิจมีความเข้มแข็ง
ท้องถิ่นมีความมั่นคง และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ และเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพ
นอกจากนี้
ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการบูรณาการแพล็ตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ
ของหน่วยงานภาครัฐ
โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมข้อมูลของแต่ละแพล็ตฟอร์ม
อี-คอมเมิร์ซ เช่น ข้อมูลของผู้ประกอบการ ช่องทางการติดต่อ คุณสมบัติผู้ซื้อ/ขาย เพื่อร่วมกันประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ
ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าชุมชนเอสเอ็มอี ผู้ส่งออก
ผู้ซื้อที่เป็นผู้บริโภคปลายทาง ผู้ซื้อที่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตต่อและผู้ซื้อในต่างประเทศ
รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์ให้สมาชิก แพล็ตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซต่างๆ
ที่เป็นผู้ขายสินค้า/บริการออนไลน์ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์แสดงสถานะตัวตนและขอรับเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
(DBD Registered) และเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
(DBD Verified) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการซื้อขายผ่านร้านค้าออนไลน์.-สำนักข่าวไทย