กรุงเทพฯ 7 ธ.ค.-รมว.คลัง หนุนเวทีธุรกิจประกันภัยอาเซียน ผนึกกำลังออกประกันภัยยั่งยืน มุ่งใช้ดิจิทัลบริการประชาชน ยอมรับประกันสุขภาพอาเซียนขยายตัวแรงหลังโควิด-19 หารือประกันภัยข้ามแดนรองรับนักท่องเที่ยว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมประจำปีนายทะเบียนประกันภัยอาเซียนครั้งที่ 25 ; AIRM และการประชุมสภาธุรกิจประกันภัยอาเซียนครั้งที่ 48 (The 48th ASEAN Insurance Council : AIC) ว่า ต้องการส่งเสริมให้ทั้งสองเวทีประชุม มุ่งผลักดันการใช้เศรษฐกิจดิจิทัล มาขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยมากขึ้น เพราะในช่วงโควิด-19 การขายประกันภัย “เจอ จ่าย จบ” ผ่านออนไลน์ นับว่าประสบความสำเร็จมาก ต่อการเข้าถึงของประชาชนคนไทย แต่ต้องใช้บทเรียนปรับปรุงแก้ปัญหา ยอมรับว่าดิจิทัล มีบทบาทมากขึ้นในอนาคต ยอมรับว่าธุรกิจประกันภัย เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 คาดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 65 และเติบโตต่อเนื่อง ร้อยละ 3.8 ในปี 66
ที่ประชุม ยังต้องการผลักดันให้ธุรกิจประกันภัยอาเซียน หันมาเน้นการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยความยั่งยืน รองรับกระแสโลกทุกเวทีหันให้มาให้ความสำคัญเศรษฐกิจ ESG เพื่อปรับการบริหารงานขององค์ให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และร่วมดูแลภาวะโลกร้อน โดยออกผลิตภัรฑ์ประกันภัยที่มีส่วนดูแลสิ่งแวดล้อม ในส่วนของไทยได้คุ้มครองทั้งภัยธรรมชาติ และประกันภัยพืชผล ซี่งไทยได้เร่ิมดูแลเกษตรมาแล้วหลายปี และต้องการให้ที่ประชุมหารือเกี่ยวกับประกันสุขภาพ รองรับสังคมผู้สูงอายุ ไทยจึงผลักดันการแก้ไขกฎกหมายประกันสุขภาพ และประกันวินาศภัย เพื่อให้ทั้งสองธุรกิจ ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย เพื่อกำกับดูแลการผลิตออกประกันสุขภาพ ให้มีความรัดกุม ในการอนุญาตใบทะเบียน จากบทเรียนโควิด-19 ขณะนี้ได้บรรจุวาระในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงต้องผลักดันให้มีผลบังคับใช้ เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประกันภัยสุขภาพเติบโตสูงมาก
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ในฐานะประธานการประชุม AIRM เปิดเผยว่า นับเป็นวาระพิเศษอย่างยิ่งสำหรับการประชุมฯ ในครั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2563 ตั้งแต่มีปัญหา COVID-19 เพื่อให้ผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย สมาคม และองค์กรด้านการประกันภัยของเซียนได้ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาการของภาคอุตสาหกรรมประกันภัยอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงในกลุ่มอาเซียน รวมถึงป้องกันภัยไซเบอร์คุกคาม เป็นสิ่งสำคัญต้องหารือ และเปิดให้แต่ละประเทศแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน
ในเรื่องความยั่งยืนนับว่ามีความสำคัญมาก จึงต้องการผลักดันในแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกัน ช่วยดูพัฒนาการของแต่ละประเทศ ด้านประกันภัย เพื่อร่วมแชร์ข้อมูล เมื่อไทยเร่ิมผลักดันประกันภัยเพื่อความยั่งยืน ไม่ใช่เพียงให้ธุรกิจไปลงทุนเกี่ยวกับความยั่งยืน หรือสิ่งแวดล้อม แต่จะดูแลใหม่ทั้งระบบ เช่น ประกันภัยข้าวนาปี ประกันภัยสุขภาพ เข้าข่ายประกันภัยความยั่งยืน อย่างไรบ้าง หากเอกชนไทยออกไปลงทุนในเพื่อนบ้าน ผู้กำกับดูแลจะยอมรับมาตรการฐานของไทยในเรื่องความยั่งยืน รวมถึงการเสนอใช้เทคโนโลยีมายกระดับการบริการประกันภัยให้ประชาชนของสมาชิกในอาเซียน การประกันภัยรถยนต์ข้ามแดน เพื่อคุ้มครองการเดินทางของนักท่องเที่ยวอาเซียน และต่างชาติ เพราะการท่องเที่ยวเป็นแรงผลักดันสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังไทยมียอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเกินเป้าหมาย 10 ล้านคน
“ปัจจุบันธุรกิจประกันภัยทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ สำนักงาน คปภ. ในฐานะประธานการประชุมประจำปีนายทะเบียนประกันภัยอาเซียนครั้งที่ 25 ต้องผลักดันความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจและภาคธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน ให้ปรับตัว และนำกลยุทธ์มาใช้ให้ทันต่อเหตุการณ์ รวมถึงการประกันภัยเพื่อความยั่งยืน ถือเป็นอีกประเด็นที่ทวีความสำคัญมากขึ้น ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีความรุนแรง” เลขาธิการ คปภ. กล่าว .-สำนักข่าวไทย