สุวรรณภูมิ 24 พ.ย. – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขีดเส้นแก้ปัญหาความล่าช้าจากการโหลดกระเป๋าสัมภาระที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมขีดเส้น บมจ.การบินไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ผู้ให้บริการภาคพื้น เร่งแก้ปัญหาให้ได้ภายใน 30 วัน โดยให้เร่งนำเสนอแผนปฏิบัติการให้ ก.คมนาคม พิจารณาในสัปดาห์หน้า หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้หาผู้ให้บริการเข้ามาเพิ่มเติม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการให้บริการผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาความแออัด และความคล่องตัวในการให้บริการผู้โดยสาร ตามที่กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT เร่งดำเนินการแก้ไขไปแล้ว โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้าสวนราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ร่วมประชุมและลงพื้นที่
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การแก้ปัญหาความแออัดบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทางผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ภายหลังจากที่มีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พบว่าสามารถบรรเทาความแออัดบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทางได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้โดยสารใช้เวลารอคิวเพื่อตรวจหนังสือเดินทางเฉลี่ย 15 นาที/คน และใช้เวลาหน้าจุดตรวจหนังสือเดินทาง 60 วินาที/คน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่ามีปัญหาเรื่องของความล่าช้าในการรอกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารขาเข้า ซึ่งปัจจุบันนี้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้ให้บริการงานบริการภาคพื้น ที่เกี่ยวข้องกับการโหลดกระเป๋าสัมภาระ 2 ราย คือ การบินไทย และ Bangkok Flight Services (BFS) โดยในส่วนของ BFS ไม่ค่อยมีปัญหาความล่าช้า แต่จะมีปัญหาอยู่ที่การบินไทย ซึ่งทราบที่มาของปัญหาเบื้องต้นว่า มาจากการที่บริษัทได้ลดขนาดองค์กรและบุคลากรลง ในช่วงที่ไม่ได้ทำการบินจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ในขณะนี้มีการเปิดประเทศและเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งเพิ่มบุคลากรเข้ามาให้เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการ
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การรอกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารนั้นไม่ควรเกิน 30 นาที ดังนั้น จึงขอให้การบินไทยกลับไปจัดทำแผนปฏิบัติการ หรือ Action Plan แล้วกลับมานำเสนอให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความแออัดของท่าอากาศยาน ที่มีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน พิจารณาในสัปดาห์หน้าว่าจะสามารถแก้ปัญหาความล่าช้าของการรอกระเป๋าสัมภาระได้อย่างไรภายใน 30 วัน ในส่วนนี้ยอมรับว่า หากไม่สามารถดำเนินการได้ กระทรวงคมนาคมได้ให้นโยบายแก่ AOT ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ให้เพิ่มผู้ประกอบการเข้ามาดำเนินการเกี่ยวกับงานบริการภาคพื้นโหลดกระเป๋าสัมภาระ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไป ซึ่งการเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการในการใช้บริการของผู้โดยสารนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้สั่งการครอบคลุมถึงการให้บริการระบบเช็กอินของสายการบินที่เคาน์เตอร์ในท่าอากาศยานทุกแห่งของ AOT ด้วย
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการให้บริการของแท็กซี่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีผู้ประกอบการขับรถแท็กซี่ประมาณ 4,200 ราย แต่จำนวนผู้ประกอบการได้ลดลงเหลือประมาณกว่า 2,400 รายเท่านั้น จึงได้ให้นโยบายผู้ประกอบการไปหาแนวทางในการเพิ่มผู้ขับรถกลับเข้ามาให้เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการ โดยเป็นการแก้ไขปัญหาเองของผู้ประกอบการก่อน หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็ได้สั่งการให้ AOT เข้าไปดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะมีจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวมประมาณ 130,000 คน/วัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่มีจำนวนผู้โดยสารรวมประมาณ 115,000 คน/วัน) รวมทั้งมอบนโยบายให้ AOT ดำเนินการแก้ไขปัญหาความคับคั่งในท่าอากาศยาน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืน และในปี 2566 ให้เร่งเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) เพื่อลดความแออัดในพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางบริเวณอาคารผู้โดยสารหลัก และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้นด้วย. – สำนักข่าวไทย