กรุงเทพฯ 10 พ.ย.-ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 แต่ยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจ โอกาสหางานทำ และรายได้ในอนาคต ยังมีหลานปัจจัยที่ต้องติดตาม ขณะที่ผลตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคตามห้างและตลาดสดต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์ สินค้าโดยรวมปรับตัวลดลงมาก
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวถึง”ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม ปี 2565”ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา ซึ่งผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่สถานการณ์โควิดในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นและมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ให้ธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้เป็นปกติตลอดจนการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงอย่างมากจากช่วงครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นรวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 40.0 43.6 และ 54.8 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกันยายน ที่อยู่ในระดับ 38.6 41.9 และ 53.3 ตามลำดับ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนยังคงกังวลในสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและทั่วโลกที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูงการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค
ดังนั้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมองว่า โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว แม้จะมีหลายปัจจัยที่ยังกังวลอยู่บ้าง ทำให้ช่วงเวลาที่เหลือปีนี้เศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3.3-3.5 และคาดว่าหลังจากทั่วโลกรวมถึงไทยมีการเปิดประเทศกันมากขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 66 จะโตอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4 ซึ่งจะเป็นตัวเลขเติบโตเท่ากับช่วงก่อนโควิดได้แน่นอน
ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า กรมการค้าภายในได้ติดตามสถานการณ์ราคาและปริมาณสินค้าอย่างใกล้ชิด ทั้งตลาดสด ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ห้างท้องถิ่น โดยพบว่า สินค้าอาหารสด เช่น หมูเนื้อแดง ไก่สด ไข่ไก่ มีแนวโน้มราคาที่ปรับลดลง ส่วนผักสด โดยเฉพาะผักประเภทใบ เช่น ผักบุ้งจีน ผักคะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี ราคาได้ปรับลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ยเดือนที่แล้ว เนื่องจากผลผลิตรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายลง
ขณะที่ สินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัว ของใช้ในบ้าน เครื่องครัว และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามห้างสรรพสินค้านั้น มีจัดโปรโมชั่นลดราคาอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่เริ่มขายดีขึ้นในช่วงนี้เป็นพวกของขวัญ ของจับฉลาก และอุปกรณ์ที่ใช้ในการท่องเที่ยวแนวแค้มปิ้ง ซึ่งก็มีการจัดโปรโมชั่นลดราคา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการซื้อเช่นกันและกรมฯได้กำชับให้พ่อค้าแม่ค้าปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจนและจำหน่ายตรงตามราคาที่แสดง
อย่างไรก็ตาม หากเป็นกระเช้าของขวัญต้องแสดงรายการสินค้า ขนาดน้ำหนักต่อหน่วย ปริมาณบรรจุและราคาสินค้าแต่ละรายการที่บรรจุในกระเช้า และถ้ามีค่าภาชนะหรือค่าจัดกระเช้าก็ต้องแสดงให้ชัดเจนด้วย เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถเปรียบเทียบราคาได้ กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านราคาและปริมาณสินค้า สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ .-สำนักข่าวไทย