กรุงเทพฯ 7 พ.ย. – กพช. เห็นชอบมาตรการช่วยประชาชนฝ่าวิกฤติพลังงาน เลี่ยงใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงอื่น ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าแพง ประกาศชัดหาก LNG ทะลุ 50 เหรียญ นาน 14 วัน จะใช้มาตรการบังคับประหยัดพลังงาน มั่นใจคุมค่าไฟฟ้างวดใหม่ ไม่ปรับขึ้น บี้ กกพ. เปลี่ยนหลักเกณฑ์พิจารณาให้ทันสถานการณ์ราคาพลังงาน ลดค่าไฟทันที 0.5 สตางค์ต่อหน่วย
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันนี้ (7 พ.ย.) ที่พิจารณาผลกระทบค่าไฟฟ้าราคาแพงจากสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทย ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 มีทั้งหมด 11 มาตรการ โดย 1 ในมาตรการคือ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมประหยัดพลังงาน และมีมติว่าหากราคาตลาดจร หรือ Spot LNG JKM สูงกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 14 วัน (Trigger point) ให้นำเสนอเป็นมาตรการภาคบังคับ ในเรื่องมาตรการบังคับประหยัดพลังงาน โดยภาครัฐจะออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งก่อนบังคับจะดูแนวโน้มเทรนด์ราคา และแจ้งเตือนล่วงหน้า ปัจจุบันราคา LNG อยู่ที่ประมาณ 28-29 เหรียญต่อล้านบีทียู
สำหรับมาตรการขอความร่วมมือประหยัดในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่อาจจะกลายเป็นมาตรการบังคับในอนาคต ได้แก่ การตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในอาคารให้สูงขึ้นจากปกติ 2 องศาเซลเซียส (27 องศาเซลเซียส) และปิดระบบแสงสว่างในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น, การกำหนดเวลาเปิดปิดไฟป้ายโฆษณาขนาดใหญ่, การปิดสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลังเวลา 23.00 น. (เปิดเวลา 05.00-23.00 น.), การกำหนดเวลาเปิดปิดภาคธุรกิจบริการที่ใช้พลังงานสูง เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ สถานบันเทิง, การปิดระบบปรับอากาศก่อนห้างสรรพสินค้าปิด 30-60 นาที, การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงของโรงงานอุตสาหกรรม โดยภาครัฐสนับสนุนการให้ข้อมูล/คำแนะนำและอาจสนับสนุนเงินลงทุนบางส่วนแก่โรงงานอุตสาหกรรม และมาตรการประหยัดพลังงานอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์
นายกุลิศ กล่าวว่า มาตรการอื่นๆ เช่น การลดการใช้แอลเอ็นจี เมื่อราคาสูงกว่า 25 เหรียญต่อล้านบีทียู มาเป็นเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่มีต้นทุนต่ำกว่า ทำให้ 3 เดือนนี้ ลดการนำเข้าแอลเอ็นจีจาก 18 ลำเรือ เหลือ 8 ลำเรือ และหากราคาแอลเอ็นจีต่ำกว่านี้ให้ บมจ.ปตท. เร่งรัดนำเข้าแอลเอ็นจีมาสำรองไว้ในคลัง โดยมั่นใจว่าแนวทางที่บริหารจัดการนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปรงวด 1/2566 (ม.ค.-เม.ย.) ราคาจะไม่สูงขึ้นกว่างวดปัจจุบัน ที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาทต่อหน่วย
สำหรับการเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิงทดแทน LNG ได้แก่ ทดแทนด้วยใช้น้ำมันดีเซลและมันเตา โดยใช้ดีเซลราว 200 ล้านลิตร ในราคาประมาณ 6 บาทต่อลิตร, จัดหาก๊าซในประเทศและแหล่งเจดีเอ ราว 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 8 ราว 555 กิกะวัตต์ชั่วโมง, รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 163 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในขณะเดียวกันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอเพิ่มการจัดส่งน้ำมันดีเซลสำหรับโรงไฟฟ้า Glow EPEC GPG และ GUT และปรับแผนการนำเข้าน้ำมันเตา 0.5% ด้วยวิธี Ship to Ship สำหรับโรงไฟฟ้าบางปะกง
การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำระยะสั้นเพิ่มเติม จาก สปป ลาว ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 1 ราว 43 กิกะวัตต์ชั่วโมง, โครงการเทินหินบุน 9.6 กิกะวัตต์ชั่วโมง, การนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้า, การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคปิโตรเคมี และภาคอุตสาหกรรม, การเจรจาเพื่อลดการรับซื้อไฟฟ้าภาคสมัครใจจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภทสัญญา Firm ระบบ Cogeneration ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และเร่งรัดการอนุมัติ/อนุญาตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ
“ที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้ กกพ. ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน เปรียบเทียบราคา Spot LNG นำเข้ากับราคาเชื้อเพลิงและต้นทุนในแต่ละมาตรการ เพื่อนำมาพิจารณาในการที่จะคงการใช้มาตรการที่มีความคุ้มค่าและเลิกใช้มาตรการที่ไม่มีความคุ้มค่าโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อให้ทันสถานการณ์ราคาพลังงานเปลี่ยนแปลงไป และเป็นผลดีต่อต้นทุนไฟฟ้าของประชาชน” นายกุลิศ กล่าว
นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบการทบทวนการกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ประเทศไทย ปี 2554-2558 ให้ปรับปรุงข้อความการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย จากเดิม “โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตรา 0.5 สตางค์ต่อหน่วย” เป็น “โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 0.5 สตางค์ต่อหน่วย” เพื่อให้กกพ. สามารถกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าเป็น 0 บาทต่อหน่วย เป็นการชั่วคราว ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบภาระค่าไฟฟ้าต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดได้ทันทีในเดือน พ.ย.นี้ 0.5 สตางค์ต่อหน่วย
นายกุลิศ กล่าวว่า กพช. ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้า สีเขียว (Utility Green Tariff) เพื่อส่งเสริมไฟฟ้าสะอาด และการค้าระหว่างประเทศที่กลไกตลาดโลกมีการบังคับใช้เรื่องพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก ประกอบด้วย (1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการนำใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะกำหนดต่อไป (2) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ Portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป ซึ่งการดำเนินการเน้นโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม.-สำนักข่าวไทย