1 พ.ย. – กอช. มุ่งส่งเสริมการออมให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระมีเงินบำนาญถ้วนหน้า มอบรางวัลส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม ประจำปี 2565 แก่หน่วยงานภาคีเครือข่าย เนื่องในวันออมแห่งชาติ
กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. จัดงานมอบรางวัลส่งเสริมการออมกับ กอช. ยอดเยี่ยม ประจำปี 2565 เนื่องในวันออมแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด ออมเงินอย่างรู้ค่า เพิ่มเวลาแห่งความสุข โดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัล เพื่อขอบคุณเครือข่ายความร่วมมือส่งเสริมการออม พร้อมเดินหน้าส่งเสริมให้ประชาชนแรงงานนอกระบบเข้าถึงการออมได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมบูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ให้มีเงินบำนาญกับ กอช. ใช้ในยามเกษียณหลังอายุ 60 ปี
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญการออมเพื่อการเกษียณ เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในการพัฒนาระบบการออมให้ทั่วถึง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ สอดคล้องเป็นไปตามแผนนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม ประเด็นปฏิรูปที่ 1 กำหนดการปฏิรูปการออม สวัสดิการสังคม และการลงทุนเพื่อสังคม โดยหนึ่งในกิจกรรมที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชน คือ ระบบการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้หลังวัยเกษียณที่เพียงพอและครอบคลุมในกลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบ ซึ่งตรงตามภารกิจหลักของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) อีกทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความสำคัญ และพร้อมผลักดันความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทย (Financial Literacy) เป็นวาระแห่งชาติ และจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมความรอบรู้ทางการเงินของประเทศไทย
กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ได้ดำเนินการให้ความรอบรู้ทางการเงินให้เป็นไปตามภารกิจของ กอช. ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชน โดยกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในการส่งเสริมความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินให้กับประชาชน ได้ตระหนักถึงการออม และบริหารจัดการเงิน โดยที่ผ่านมา กอช. ได้ให้ความรู้ด้านบริหารการเงินแก่ หัวหน้าส่วนราชการในแต่ละจังหวัด ผู้บริหารสถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าใจรายละเอียด กอช. เกิดการถ่ายทอดความรู้ต่อยอดได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ กอช. ได้เปิดรับตัวแทน กอช.ประจำหมู่บ้าน ผ่านที่ว่าการอำเภอ โดยมีเป้าหมายสร้างตัวแทน กอช.ประจำหมู่บ้าน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 74,000 หมู่บ้าน ซึ่งในปี 2565 มีตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน จำนวน 35,000 คน มีบทบาทให้คำปรึกษาการออมเงินกับ กอช. แก่ประชาชนในหมู่บ้าน ทั้งการรับสมัครสมาชิก ส่งเงินออมสะสม แจ้งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นสมาชิก กอช.
โดยในปี 2565 กอช. ได้มุ่งพัฒนาสร้างวินัยการออมให้ประชาชน อันเป็นปัจจัยความสําเร็จในการสร้างรากฐานการพัฒนาประเทศที่มั่นคง และสร้างหลักประกันเงินออมไว้ใช้ในยามชราภาพ ควบคู่กับการพัฒนาทักษะความรอบรู้ทางการเงินให้กับประชาชน สมาชิก ตัวแทน กอช. และหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนไทยที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี ที่เป็นแรงงานนอกระบบ สามารถมีบำนาญใช้ในยามเกษียณเหมือนข้าราชการ
เนื่องในวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็น “วันออมแห่งชาติ” ซึ่งการสร้างเสริมวินัยการออมให้กับประชาชน ถือเป็นหนึ่งในเรื่องหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ในปีนี้ กอช. ได้จัดให้มีการมอบรางวัลแก่หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ร่วมส่งเสริมการออมกับ กอช. จำนวน 31 รางวัล ประกอบด้วย ประเภทรางวัลเกียรติยศ ประเภทรางวัลหน่วยงานการศึกษาที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น ประเภทรางวัลระดับจังหวัด และประเภทรางวัลระดับเครือข่ายที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น ในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2565 เพื่อเป็นเกียรติแก่หน่วยงานความร่วมมือที่ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนมีวินัยในการออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณกับ กอช.
นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2541 กำหนดให้วันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันออมแห่งชาติ” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยมีวินัยรักการออม การวางแผนทางการเงิน รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการออมเงิน
กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ได้ดำเนินการจัดงานวันออมแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน และในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เวียนมาบรรจบครบรอบ 5 ปี ที่ กอช. ได้ดำเนินการมา โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้ชีวิตประชาชนที่มีอาชีพอิสระ หรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ ให้ได้มีโอกาสรับสวัสดิการจากภาครัฐอย่างทั่วถึง ด้วยการสร้างระบบการออมที่เข้มแข็ง เสริมสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ซึ่งปี 2565 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged society) และอีก 9 ปีข้างหน้า ในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) เพื่อการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เข้มแข็ง โดยเริ่มวางแผนการเงินให้ตนเอง ด้วยการบริหารจัดการเงินให้งอกเงยและมั่นคง เริ่มที่การออมที่มีวินัยจะทำให้ถึงเป้าหมายในอนาคตได้ องค์ประกอบที่สำคัญของการออมเพื่อความมั่นคงในยามชราจะต้องมีระยะเวลาที่ยาวพอ จำนวนเงินออมที่หักก่อนการใช้จ่าย และผลประโยชน์ตอบแทนจากการออม ซึ่งหากออมกับ กอช. จะมีเงินสมทบจากรัฐบาลมาช่วยอีกส่วนหนึ่ง ทำให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีบำนาญใช้ยามเกษียณเหมือนข้าราชการได้
ในปัจจุบัน กอช. เปิดดำเนินการกองทุนมาแล้วกว่า 7 ปี มีจำนวนสมาชิกกว่า 2,509,337 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2565) โดยสมาชิกส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.07 เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร รองลงมาเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ร้อยละ 29.76 และนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 7.37 ตามลำดับ ในปี 2564-2565 ถึงแม้ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ก็ตาม กอช. ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจการส่งเสริมวินัยการออมให้กับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อเป็นการขอบคุณหน่วยงานภาคีเครือข่ายส่งเสริมความร่วมมือสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงการออม ทั้งยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการร่วมแรงร่วมใจส่งเสริมการออมให้ประชาชนแรงงานนอกระบบได้บำนาญทั่วหน้ายามเกษียณ จึงได้จัด “งานมอบรางวัลส่งเสริมการออมกับ กอช. ยอดเยี่ยมประจำปี 2565 เนื่องในวันออมแห่งชาติ” จำนวนทั้งสิ้น 31 รางวัล (ระยะเวลาดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2565) ดังนี้
1.รางวัลเกียรติยศ จำนวน 9 รางวัล
การมอบรางวัลเกียรติยศแก่บุคคลและหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือสนับสนุน และส่งเสริมการออมเป็นที่ประจักษ์
1.1 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
1.2 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
1.3 กรมราชทัณฑ์
1.4 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
1.5 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
1.6 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
1.7 สถานีวิทยุการศึกษา FM 92 MHz
1.8 นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
1.9 นายปรีชา เดชพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์
2.รางวัลหน่วยงานการศึกษา จำนวน 2 รางวัล
รางวัลหน่วยงานการศึกษาที่มียอดสมาชิกใหม่สูงสุดประจำปี 2565
2.1 โรงเรียนโนนสุวรรณพิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์
2.2 โรงเรียนโพธิ์ไทรพิทยาคาร จังหวัดอุบลราชธานี
3.รางวัลระดับจังหวัด จำนวน 13 รางวัล รายละเอียดดังนี้
3.1รางวัลยอดสมาชิกสูงสุดระดับจังหวัดประจำปี 2565 ตามภูมิภาค จำนวน 6 รางวัล
3.1.1 จังหวัดส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม (ภาคเหนือ) – จังหวัดน่าน
3.1.2 จังหวัดส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม (ภาคกลาง) – จังหวัดนครสวรรค์
3.1.3 จังหวัดส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม (ภาคใต้) – จังหวัดนราธิวาส
3.1.4 จังหวัดส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) – จังหวัดมหาสารคาม
3.1.5 จังหวัดส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม (ภาคตะวันตก) – จังหวัดราชบุรี
3.1.6 จังหวัดส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม (ภาคตะวันออก) – จังหวัดตราด
3.2รางวัลจังหวัดที่มีผลการดำเนินงานการส่งเสริมวินัยการออมดีเด่นที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายสูงสุด ประจำปี 2565 ตามภูมิภาค จำนวน 7 รางวัล
3.2.1 จังหวัดส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม (ภาคเหนือ) – จังหวัดแพร่ และจังหวัดอุตรดิตถ์
3.2.2 จังหวัดส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม (ภาคกลาง) – จังหวัดนครสวรรค์
3.2.3 จังหวัดส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม (ภาคใต้) – จังหวัดนราธิวาส
3.2.4 จังหวัดส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) – จังหวัดมหาสารคาม
3.2.5 จังหวัดส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม (ภาคตะวันตก) – จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
3.2.6 จังหวัดส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม (ภาคตะวันออก) – จังหวัดตราด
4.รางวัลระดับเครือข่ายผลการดำเนินงานประจำปี 2565 ให้แก่บุคคลหรือเครือข่ายความร่วมมือที่
ให้การร่วมมือสนับสนุนส่งเสริมการเพิ่มจำนวนสมาชิก จำนวน 7 รางวัล รายละเอียดดังนี้
4.1 รางวัลมอบให้กับหน่วยบริการสมาชิก จำนวน 4 รางวัล
4.1.1 รางวัลคลังจังหวัดที่ส่งเสริมการออมดีเด่น ได้แก่ สำนักงานคลังจังหวัดขอนแก่น
4.1.2 รางวัลเสมียนตราอำเภอส่งเสริมการออมดีเด่น ได้แก่ เสมียนตราอำเภอเชียงยืน อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม
4.1.3 รางวัลสหกรณ์ส่งเสริมการออมดีเด่น ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเต่างอย จำกัด จังหวัดสกลนคร
4.1.4 รางวัลสถาบันการเงินชุมชนส่งเสริมการออมดีเด่น ได้แก่ สถาบันการเงิน ชุมชนต้นแบบ กองทุนชุมชนบ้านถนนหัก จังหวัดบุรีรัมย์
4.2 รางวัลมอบให้กับบุคคลที่เป็นเครือข่ายส่งเสริมการออม จำนวน 3 รางวัล
4.2.1 รางวัลตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้านที่ส่งเสริมการออมดีเด่น ได้แก่ นางสายชล สิงห์ตา หมู่ที่ 6 ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก
4.2.2 รางวัลกำนันส่งเสริมการออมดีเด่น ได้แก่ นายเจษฎากร นินนะมะ กำนัน ตำบลแม่เปิน อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์
4.2.3 รางวัลผู้ใหญ่บ้านส่งเสริมการออมดีเด่น ได้แก่ นางณัฐนันท์ เฉียบแหลมกุลวัต ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลกระทุ่มราย อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้ กอช. จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาให้ประชาชนคนไทยที่เป็นแรงงานนอกระบบ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้มีเงินออมยามเกษียณ พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการวางแผนทางการเงิน และพัฒนาช่องทางให้สมาชิกเข้าถึงการออมที่ง่าย หลากหลาย สะดวกและรวดเร็วเพิ่มขึ้น
นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กอช. ได้พัฒนาช่องทางเข้าถึงการออมให้สมาชิกและประชาชนผู้สนใจ ได้เข้าถึงการออมที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ทั้งช่องทางการสมัคร การออมเงินต่อเนื่อง และการรับรู้ข่าวสาร ช่องทางออนไลน์ อาทิ ไลน์ กอช. แอปพลิเคชัน กอช. หรือเว็บไซต์ ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) กอช. ช่องทางหน่วยรับบริการ
ธนาคารของรัฐ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย รวมกว่า 3,836 สาขา ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ จำนวน 878 แห่ง สำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด สถาบันการเงินชุมชน จำนวน 128 แห่ง เซเว่น-อีเลฟเว่น จำนวน 12,500 แห่ง เทสโก้โลตัส จำนวน 1,949 สาขา ไปรษณีย์ไทย จำนวนกว่า 1,479 แห่ง ตู้บุญเติม จำนวน 112,498 ตู้ และมีตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน 35,000 คน ในการส่งเสริมให้ประชาชนในแต่ละหมู่บ้านได้เข้าถึงการออม ส่งเงินออมต่อเนื่องกับ กอช. และให้ข้อมูลสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นสมาชิก กอช.
โดย กอช. เสริมสร้างความมั่นใจในการออมให้สมาชิกอุ่นใจดูการเคลื่อนไหวยอดเงินออมของตนเอง ผ่านไลน์ กอช. แอปพลิเคชัน กอช. ได้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัยในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ กอช. ได้ร่วมกับธนาคารออมสิน จัดพิมพ์สมุดเงินออม (Passbook) ให้กับสมาชิก และ ปี 2565 กอช. ได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการให้บริการจัดพิมพ์สมุดเงินออมแก่สมาชิก เพียงแสดงบัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสมัครเป็นสมาชิก กอช. ได้ ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย อายุ 15 ปี ถึง อายุ 60 ปี ออมขั้นต่ำ 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี รัฐจะจ่ายเงินสมทบให้ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปตามช่วงอายุของสมาชิก รับเงินสมทบเพิ่มตามช่วงอายุ ช่วงอายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 600 บาท ช่วงอายุ >30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมแต่ละครั้งโดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 960 บาท
และช่วงอายุ >50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 1,200 บาท นอกจากนี้ การออมเงินกับ กอช. มีความคุ้มครองผลตอบแทนการลงทุน ไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ และเงินออมสะสมสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเต็มจำนวน การสมัครสมาชิก กอช. ใช้บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว ในการตรวจสอบสิทธิก่อนการสมัครได้ที่แอปพลิเคชัน “กอช” หรือที่เว็บไซต์ กอช. ( www.nsf.or.th ) ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนเงินออม โทร. 02-049-9000 . – สำนักข่าวไทย