กรุงเทพฯ 21 ต.ค.- สภาองค์กรของผู้บริโภคเตรียมขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กรณี กสทช. อนุญาตการควบรวม TRUE-DTAC
สภาองค์กรของผู้บริโภคระบุ ผิดหวังกับ กสทช.ที่ไม่ใช้อำนาจตัวเอง และเตรียมขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กรณี กสทช. อนุญาตการควบรวม TRUE-DTAC และจะร้องไปยังคณะกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยใช้เหตุผลกรรมการ กสทช. “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ในการพิจารณาการควบรวมกิจการประเภทเดียวกันในครั้งนี้ โดยเฉพาะประธาน กสทช. ที่มาจากด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ถือว่าน่าผิดหวังเป็นที่สุดสำหรับผู้บริโภค และ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ว่า กสทช. ไม่มีอำนาจ เนื่องจากประธานได้ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ และได้รับการยืนยันมาแล้วว่าเป็นอำนาจของ กสทช. เพราะฉะนั้นสภาองค์กรของผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเดินหน้าฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้คุ้มครองฉุกเฉินเพื่อยับยั้งการควบรวมในครั้งนี้
ด้านพรรคการเมือง อย่างน้อย 2 พรรค แสดงความเป็นการควบรวม ทรู-ดีแทค ทำให้เกิดการแข่งขันระดับ สร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษก พรรคไทยสร้างไทย ระบุ กสทช. อนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการของทุนขนาดใหญ่สองบริษัทในกิจการโทรคมนาคมนั้นไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนให้เกิดทุนผูกขาดขึ้นในประเทศ แต่ยังสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยมที่อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนได้ ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพในสาธารณูปโภค และรัฐควรที่จะต้องคำนึงถึงปัญหาเรื่องการผูกขาดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในกิจการที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าระบุ น่าเศร้าของระบบเศรษฐกิจไทย น่าเสียดายที่ กสทช. ไม่ได้ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก นำพาธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นธุรกิจยุทธศาสตร์ของประเทศไปยืนอยู่บนความเสี่ยง ที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภคและเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างมหันต์
ด้าน นส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุ กสทช. อ้างว่า ทรู และดีแทค ไม่ได้ถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันจึงทำได้แค่รับทราบเท่านั้น การรวมธุรกิจจึงไม่ต้องขอการอนุญาตนั้นค้านสายตาคนทั้งประเทศ จะด้วยเหตุผลว่าทรูไม่ได้เป็นผู้ถือใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ในขณะที่ดีแทคถือใบอนุญาตธุรกิจ Wi-fi หรือจะด้วยเหตุผลว่าบริษัทที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ (New Co.) ที่จะโอนย้ายหุ้นไปไม่ได้อยู่ในธุรกิจประเภทเดียวกัน ก็ฟังไม่ขึ้นแทบทั้งสิ้น
ในเมื่อ กสทช. ปฏิเสธอำนาจของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ที่จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาด จึงจำเป็นต้องยื่นฟ้อง กสทช. ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อ ปปช.ต่อไป.-สำนักข่าวไทย