กรุงเทพฯ 17 ต.ค.- กลุ่ม ปตท.ปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันปีหน้าไม่เกิน 90 เหรียญ/บาร์เรล หลังโอเปกพลัสหั่นกำลังผลิต-เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เน้นย้ำบริหารมั่นคง -ราคาเหมาะสม พร้อมเดินหน้าร่วมทุนสร้างสถานีแอลเอ็นจีตามแผน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท.ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีที่กลุ่มโอเปกพลัสประกาศ ลดกำลังผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันในเดือน พ.ย.นี้ รวมทั้งกรณีที่ทั่วโลกหวั่นเกรงปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า โดยกลุ่ม ปตท.ได้นำโจทย์เหล่านี้ มาใช้ในการประเมินราคาน้ำมันทุก 1 เดือน และประเมินการดำเนินธุรกิจทุก 3 เดือน โดยต้องยอมรับว่าราคาพลังงานผันผวน และนวัตกรรมพลังงานมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กลุ่ม ปตท.จึงต้องปรับตัวให้ทัน
“จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุด กลุ่ม ปตท.ได้ตั้งสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้อยู่ที่ประมาณ 90-100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และปีหน้าคาดจะอยู่ที่ประมาณ 85-90 เหรียญ/บาร์เรล โดย กลุ่ม ปตท.วางแผนทั้งด้านสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและบริหารธุรกิจให้เหมาะสมมีผลตอบแทนที่ดีต่อทุกภาคส่วน”นายอรรถพลกล่าว
นายอรรถพล ยกตัวอย่างว่า การบริหารด้านความมั่นคงนั้นในช่วงเริ่มเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปตท.ได้สตอกน้ำมันดิบ 4 ล้านบาร์เรล เพราะหวั่นว่าหากเกิดความรุนแรงน้ำมันจะขาดแคลน แต่ เมื่อเหตุการณ์ยืดเยื้อ และโอกาสขาดแคลนเป็นไปได้ยาก จึงได้ทยอยจำหน่ายออกมาบ้าง ในขณะเดียวกัน ในส่วนของราคาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี ที่ปีนี้มีราคาสูง ทาง ปตท.ได้ร่วมบริหารงานกับกระทรวงพลังงานในการนำน้ำมันมาผลิตไฟฟ้าทดแทนแอลเอ็นจี ซึ่งทำให้ลดการนำเข้าแอลเอ็นจีเป็นจำนวนมาก ช่วยทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศต่ำที่สุด ถึงแม้ว่าคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (เทอร์มินอล) อาจจะยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ แต่ก็ถือว่าสร้างความมั่นคงต่อประเทศ และยังเดินหน้าร่วมลงทุนสถานีแห่งที่ 3 กับกัลฟ์ฯใน โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ก็ยังเป็นไปตามแผนงานเดิมทุกประการ
สำหรับพอร์ตลงทุนของ ปตท.ในอนาคตจะปรับให้สอดรับกับเป้าหมาย NET ZERO เช่นเพิ่มสัดส่วนลงทุนพลังงานหมุนเวียน แตะ 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ภายในปี 2573 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2,000 เมกะวัตต์ และตามแผน 5ปี จะเพิ่มเป็น 7,000 เมกะวัตต์ในปี 2569 และการลงทุนสถานีแอลเอ็นจีก็เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มพอร์ตก๊าซฯให้ขยายตัวขึ้นเพราเป็นเชื้อเพลิงสะอาด
ในขณะเดียวกัน ความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ลงทุน พื้นที่บนฝั่งในภาคตะวันออกภายใต้ความร่วมมือ PTT Group CCS Hub Model ที่ระดมเทคโนโลยี เพื่อบริหารการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน การนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization : CCU) ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ การปรับปรุงกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต ขณะนี้ศึกษาความเป็นได้ ทางธุรกิจ คาดว่าต้นปีหน้าจะสรุปว่าจะนำประโยชน์ของ CCU ไปต่อยอดผลิตภัฯฑ์อะไร ขณะนี้ศึกษาอยู่ 3-4 โครงการ
ส่วน ความคืบหน้าการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของกลุ่ม ปตท. เพื่อแทนผู้ที่เกษียณอายุ ที่ปีนี้มีความล่าช้าว่า คาดว่าจะมีข้อสรุปเร็วๆนี้ เนื่องจากการแต่งตั้งผู้บริหารเกือบครบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP และบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่อยู่ระหว่างการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ โดยในส่วนของ OR เนื่องจาก ปตท.ถือหุ้นในสัดส่วน 2 /3 ดังนั้น จึงเข้าหลักเกณฑ์การสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตามเกณฑ์รัฐวิสาหกิจ และในขณะนี้มีนายสุชาติ ระมาศ ดำรงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ OR ซึ่งทั้ง 2 คนก็จะช่วยกันทำงาน เพื่อบริหารงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ส่วน TOP นั้น ในขณะนี้ ทางบอร์ดไทยออยล์ ได้แต่งตั้ง นายนพดล ปิ่นสุภา รักษาการตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมดำรงตำแหน่งซีอีโอ
“ในส่วนของ OR การที่มีผู้บริหารร่วม 2 คนก็ถือว่า 2 คนดีกว่า 1 คนในการร่วมงานบริหาร ส่วน TOP นั้น ตามหลักการ หากเป็นคนในที่มีความสามารถก็สามารถขึ้นมาเป็น CEO ได้เช่นกัน ซึ่งเหมือนกับที่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.ที่ผู้บริหารก็มาจากคนใน โดย ปตท.ไม่ได้ส่งระดับรองผู้ว่าการฯไปเป็นซีอีโอ แต่อย่างใด” นายอรรถพลกล่าว -สำนักข่าวไทย