กรุงเทพฯ 23 เม.ย.-รฟท.เร่งตั้งบริษัทลูก บริหารทรัพย์สิน สร้างรายได้เชิงพาณิชย์ จากพื้นที่ 11 แปลงใหญ่ มั่นใจภายใน 6 ปี มีรายได้เพิ่ม 60,000 ล้านบาท
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ กรรมการและรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่า ขณะนี้รฟท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามแนวนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้องค์กรฟื้นฟูกิจการและสร้างรายได้เพิ่ม โดยการศึกษาจะเน้นไปที่การพัฒนาที่ดินของรฟท.เพื่อหารายได้เชิงพาณิชย์โดยเฉพาะพื้นที่ศักยภาพ 11 แปลงใหญ่รอบเมืองหลวงอย่างพื้นที่กม.11 สถานีแม่น้ำและสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งได้เน้นรายละเอียดให้บริษัทลูกต้องบริหารสัญญาทั้งหมดของรฟท.และหาผู้ร่วมทุนในพื้นที่แปลงใหญ่ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาราว 9 เดือน ก่อนจะเริ่มเดินหน้าตั้งบริษัทได้ในปีหน้า รวมถึงศึกษาโครงสร้างบริษัท ทิศทางการบริหารและจำนวนบุคลากร
ดังนั้นคาดว่าในช่วง 6 ปี แรกระหว่างปี 2560-2565 รฟท.จะสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท นำไปใช้หักลบกลบหนี้ชองรฟท.ที่มีอยู่ถึง 170,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระด้านดอกเบี้ยที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนที่สำคัญอย่างโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งมองว่าถ้าแล้วเสร็จครบทุกเส้นทางแล้วจะสร้างรายได้อีกมากให้กับองค์กรรถไฟจากปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเสนอรายละเอียดการจัดตั้งบริษัทลูกให้กระทรวงคมนาคมได้ไม่เกินกลางเดือนพ.ค. ด้วยทุนจดทะเบียนตั้งบริษัทเริ่มต้นที่ 200 ล้านบาท โดยรฟท.ถือหุ้นทั้งหมด
นายอานนท์ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าด้านโครงการรถไฟทางคู่หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ที่สามารถออกทีโออาร์และเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่หนึ่งไปแล้วคาดว่า จะสามารถเปิดขายเอกสารประกวดราคาได้ปลายเดือนนี้และได้ตัวผู้รับเหมาก่อสร้างต้นเดือนกรกฎาคม 2560 อย่างไรก็ตามภายหลังจากสามารถเปิดประมูลโครงการทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์แล้ว จะทยอยนำโครงการอีกเส้นทางที่เหลือเข้าสู่ขั้นตอนประกวดราคาเป็นรอบไป อาจเป็นแบบรายสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ ตามนโยบายของซูเปอร์บอร์ดที่ให้การประกวดราคาทำไม่พร้อมกันเพื่อเปิดช่องให้เอกชนแข่งขันกันได้มากขึ้น
ดังนั้นจึงคาดว่าจะได้ตัวเอกชนครบทั้ง 5 เส้นทางภายในเดือน ส.ค.นี้ภายหลังจากได้ตัวเอกชนรายแรกช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ช่วงต้นเดือนก.ค. ซึ่งรฟท.คาดว่าวงเงินราคากลางของรถไฟทางคู่ 5 เส้นจะปรับลดจากเดิมราวร้อยละ 10 คิดเป็น 9,884 ล้านบาท ไปอยู่ที่ 88,963 ล้านบาทจากเดิมที่ 98,847 ล้านบาท (ทางคู่ 5 เส้นทาง คือ 1.เส้นทาง ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร(กม.) วงเงินลงทุน 17,290.63 ล้านบาท 2.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงินลงทุน 29,449.31 ล้านบาท 3.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงินรวม 24,722.28 ล้านบาท 4.ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงินลงทุนรวม 20,046.41 ล้านบาท และ5.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. วงเงินลงทุนรวม 7,340 ล้านบาท
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เร่งรัดให้รฟท.ไปทำแผนเดินรถสายสีแดงมาให้ชัดเจนภายหลังจากที่รฟท.ขอเข้าบริหารเส้นทางดังกล่าวเนื่องจากเป็นหนึ่งในรถไฟฟ้าสายสำคัญที่มีศักยภาพสร้างรายได้อีกมากในอนาคตร่วมกับการเตรียมแผนขยายเส้นทางรถไฟดังกล่าวทั้งฝั่งทิศเหนือและทิศใต้ ส่งผลให้ขณะนี้รฟท.ต้องเร่งจัดทำรายละเอียดด้านโครงสร้างบริษัท ทิศทางการบริหาร บุคลากรและเงินเดือนเพื่อตั้งบริษัทเดินรถทำการบริหารงานเดินรถของรถไฟสายสีแดงและรถไฟทางคู่ในอนาคต คาดว่าจะเร่งจัดตั้งบริษัทได้ใกล้เคียงกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ คือ ภายในปีหน้า ด้วยการใช้ทุนจดทะเบียนประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนด้านความคืบหน้าโครงการดังกล่าวขณะนี้ สัญญา 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟบางซื่อ – รังสิต คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 58 ส่วนสัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงนั้นยอมรับว่าต้องล่าช้าไป 1 ปี เนื่องจากติดปัญหาด้านการขนย้ายท่อน้ำมันบริเวณพื้นที่ดำเนินการ ส่วนด้านแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีนั้นจะมอบให้บริษัทบริหารทรัพย์สินเป็นผู้พัฒนาพื้นที่ต่อไป ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่ที่เหลืออีก 9 เส้นทาง ระยะทาง 2,217 กิโลเมตร มูลค่ารวม 3.9 แสนล้านบาท นั้นคาดว่าจะออกทีโออาร์ในปีนี้ไม่ครบทั้ง 9 เส้นแต่จะรีบออกทีโออาร์ในบางเส้นทางที่มีศักยภาพก่อน
สำหรับรูปแบบของบริษัทเดินรถนั้นจะแตกต่างจากบริษัทจ้างเดินรถอย่างแอร์พอร์ตลิ้งค์เพราะอยู่ในรูปแบบ Net Cost ที่มีอำนาจเต็มในการบริหารและพัฒนาบุคลากรรวมถึงแนวทางดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ยังต้องใช้บุคลากรภายนอกเข้ามาบริหารเพื่อประสิทธิภาพผลงานโดยจ่ายเงินเดือนให้เทียบเท่าบริษัทเอกชน ขณะที่การจัดตั้งบริษัทลูกด้านซ่อมบำรุงขณะนี้ยังติดปัญหาหลายด้านที่ต้องพูดคุยกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง-สำนักข่าวไทย