กรุงเทพฯ 4 มี.ค. – เลขานุการกอนช. ระบุ ประเทศท้ายแม่น้ำโขงห่วงผลกระทบจากการปล่อยน้ำและกักน้ำที่เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน จึงร่วมกันศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอุทกวิทยาและการไหลของแม่น้ำโขงเพื่อจะได้ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้านนักวิชาการแนะให้หาแหล่งเก็บกักน้ำที่จีนระบายเพิ่มเพื่อประโยชน์ด้านการเกษตรและการประปาริมโขง
นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า จากการที่จีนระบายน้ำที่เขื่อนจิ่งหงซึ่งกั้นแม่น้ำโขงเพิ่มเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างฉับพลัน โดยจีนปรับอัตราระบายน้ำเป็นระยะๆ ทำให้ประเทศท้ายน้ำต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดทุกครั้ง
ทั้งนี้ประเทศต่างๆ แจ้งความกังวลใจไปยังทางการจีนแล้ว พร้อมขอความร่วมมือจีนกำหนดอัตราการระบายที่ชัดเจน ที่ผ่านมาจีนส่งข้อมูลให้ประเทศต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงเป็นระยะๆ ว่า สภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดแม่น้ำโขงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของลำน้ำ ไม่ใช่จากการระบายที่เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนอย่างเดียว
ล่าสุดประเทศในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) และความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (LMC) 6 ประเทศประกอบด้วย ไทย เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม และจีนจึงตกลงที่จะร่วมกันศึกษาความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการไหลที่ของน้ำในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงและยุทธศาสตร์การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (joint Study between MRCS and the LMC Water Center on the Changing Patterns of Hydrological Conditions in the Lancang-Mekong River Basin and Adaptation Strategies) ซึ่งจะทำให้ทราบว่า สภาพลุ่มน้ำล้านช้างและลุ่มน้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อัตราการระบายจากเขื่อนกั้นแม่น้ำควรเป็นเท่าไร รวมถึงประเทศต่างๆ จะสามารถกำหนดแนวทางปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
ผศ. ดร. ณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า การปรับอัตราระบายน้ำเพิ่มที่เขื่อนจิ่งหงของจีนล่าสุด จาก 997 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็น 1,463 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้น 66 เซนติเมตรซึ่งกอนช. ประเมินว่า จะทำให้ระดับน้ำใน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น 40-60 เซนติเมตรระหว่างวันที่ 4 – 10 มี.ค. ทั้งนี้ระดับน้ำดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบให้น้ำในแม่น้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่ริมตลิ่ง แต่จะเกิดผลดีต่อเกษตรกรซึ่งสามารถนำน้ำมาเลี้ยงพืชฤดูแล้งที่เพาะปลูกอยู่หรือใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้
ผศ. ดร. ณัฐเชื่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในฤดูแล้งอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นผลจากเขื่อนในประเทศจีนมาหลายปีที่แล้ว โดยในปีที่ผ่านมีผลกระทบเพิ่มขึ้นจากเดิมและปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนไชยะบุรีซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลาว แต่น้ำที่ระบายมาเพิ่มขึ้นนี้ มีแง่ดีคือ ทำให้ปริมาณน้ำในฤดูแล้งมีมากกว่าในอดีต ซึ่งหากปรับตัวด้วยการหาแหล่งเก็บกักน้ำที่จะผันน้ำจากแม่น้ำโขงในช่วงที่น้ำเพิ่มขึ้นมากนี้มาไว้ใช้ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการประปาในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง.-สำนักข่าวไทย