กรุงเทพฯ 15 ก.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์ทำหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชจังหวัด ร่วมยกระดับควบคุมการระบาดของโรคลัมปี สกิน โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ผืนป่า ป้องกันไม่ให้ระบาดสู่สัตว์ป่า เร่งจัดสรรวัคซีน 5 ล้านโดสแล้ว มั่นใจโรคสงบใน 3 เดือนหลังฉีดวัคซีนครอบคลุม
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอความร่วมมือยกระดับการควบคุมการระบาดของโรคลัมปี สกิน โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เขตป่า หลังจากที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรายงานพบกระทิงที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์ติดโรคลัมปี สกิน โดยประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดร่วมเฝ้าระวังด้วย
ทั้งนี้ สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอเข้าฉีดพ่นสารกำจัดแมลงพาหะบริเวณคอกโค-กระบือของเกษตรกรที่เลี้ยงในพื้นที่ใกล้เขตป่าหรืออุทยานแห่งชาติ เพื่อไม่ให้บินไปกัดสัตว์ป่าได้แก่ กระทิง วัวแดง และควายป่า รวมทั้งแนะนำให้เกษตรกรหมั่นรักษาความสะอาดบริเวณคอกโค-กระบือ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงพาหะ ร่วมกับการกางมุ้งและติดหลอดไฟไล่แมลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการป้องกันโรคในสัตว์ที่เลี้ยงไว้ด้วย
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวต่อว่า จะเร่งจัดสรรวัคซีน 5 ล้านโดสที่ครม. อนุมัติงบกลางให้จัดซื้อตามแผนบริหารจัดการที่วางไว้เพื่อควบคุมโรค ดังนี้ ปศุสัตว์เขต 1 จำนวน 224,100 โดส ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง ปศุสัตว์เขต 2 จำนวน 130,100 โดส ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ และสระแก้ว ปศุสัตว์เขต 3 จำนวน 1,623,300 โดส ประกอบด้วย จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ปศุสัตว์เขต 4 จำนวน 1,127,900 โดส ประกอบด้วย จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี ปศุสัตว์เขต 5 จำนวน 405,600 โดส ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ปศุสัตว์เขต 6 จำนวน 376,600 โดส ประกอบด้วย จังหวัดกำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี ปศุสัตว์เขต 7 นวน 563,400 โดส ประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรีราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี ปศุสัตว์เขต 8 จำนวน 341,300 โดส ประกอบด้วย จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี และปศุสัตว์เขต 9 จำนวน 207,700 โดส ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล
อธิบดีกรมปศุสัตว์ย้ำว่า แผนกระจายวัคซีนเป็นไปตามหลักวิชาการอย่างทั่วถึงเป็นธรรม โดยครอบคลุมประชากรโค-กระบือไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของประชากรสัตว์กลุ่มเสี่ยงทั้งประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีโค-กระบือรวม 10,249,349 ตัว แบ่งเป็นโคเนื้อ 7,969,519 ตัว โคนม 811,688 ตัว กระบือ 1,568,042 ตัว ซึ่งการฉีดวัคซีนลัมปี สกิน ของกรมปศุสัตว์นั้น ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จากเกษตรกรทั้งสิ้น
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดล่าสุด มีสัตว์ที่ป่วยทั้งหมด 430,181 ตัว โดยเป็นโคนม 5,075 ตัวโคเนื้อ 422,679 ตัว กระบือ 2,427 ตัว ตายสะสม รวม 24,922 ตัว โคนม 226 ตัว โคเนื้อ 24,515 ตัว กระบือ 181 ตัว หายป่วยสะสมรวม 201,886 ตัว โคนม 1,364 ตัว โคเนื้อ 199,552 ตัว กระบือ 970 ตัว ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์พบสัตว์ป่วยใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก มั่นใจว่า เมื่อดำเนินการฉีดวัคซีนตามเป้าหมาย โรคจะสงบได้ภายใน 3 เดือน ส่วนกรณีของการเยียวยาโค-กระบือที่ป่วยตายด้วยโรคลัมปี สกิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เพื่อช่วยเกษตรกรให้มากที่สุด. – สำนักข่าวไทย